การศึกษาประสิทธิภาพการแบ่งใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวพันธุ์ กข85

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นพืชทางเศรษฐกิจหลักที่มีความสำคัญที่สามารถนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวยังคงกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีพื้นที่การเพาะปลูกมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ จากข้อมูลในปี 2563/64 การทำนาข้าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดเป็นจำนวน 62.4 และ 8.3 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 26.4 และ 5.3 ล้านตันในนาปี และนาปรังตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา และเนื่องจากข้าวมีความต้องการธาตุอาหารในทุกระยะการเจริญเติบโต จึงต้องมีหลักการจัดการอย่างเหมาะสมในหลายด้าน

การใช้ปุ๋ยในนาข้าวที่ต้องมีการพิจารณาทั้งปริมาณของปุ๋ย และระยะเวลาการใส่ปุ๋ย เพื่อเป็นการยกระดับปริมาณผลผลิต รวมไปถึงการนำไปใช้ของเกษตรกรที่จะสามารถใช้ได้ในพื้นที่การทำนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะข้าวเจ้าขาวซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมสำหรับพื้นที่ปลูกในบริเวณภาคกลาง ซึ่งมีผลผลิตค่อนข้างสูง ดังนั้นการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก และสำหรับข้าวเจ้าพันธุ์ กข85 เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ที่มีการรับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมจากเกษตรกรมากขึ้นในเขตภาคกลาง เนื่องจากเป็นข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงที่มีลักษณะเด่น คือให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย สามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง (ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท, 2563) ดังนั้น บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จึงทำแปลงทดลองเพื่อศึกษาการใส่ปุ๋ยในระยะเวลาที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวพันธุ์ กข85

อุปกรณ์ และวิธีการทดลอง

ดำเนินการทดลอง ณ สถานีวิจัยข้าวเขตชลประทานในพื้นที่ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการเก็บตัวอย่างดินก่อนการทดลองพบว่า ดินมีความเป็นกรดปานกลาง มีอินทรียวัตถุอยู่ในระดับสูงมาก ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์อยู่ในระดับสูง โพแทสเซียมและแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูงมาก และแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูง (ตารางที่ 1)

 

ตารางที่ 1 แสดงปริมาณผลวิเคราะห์ดินแปลงทดลองสถานีวิจัยข้าวเขตชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี

ปลูกข้าวพันธุ์ กข85 โดยกรรมวิธีการหว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ใส่ปุ๋ยสูตร 16-12-8 และ 20-8-20 โดยแบ่งการใส่ปุ๋ยตามตำรับการทดลอง ดังนี้ ตำรับการทดลองที่ 1 แบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง และตำรับการทดลองที่ 2 การแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง (ตารางที่ 2) และทำการเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ได้แก่ ความสูง จำนวนกอต่อตารางเมตร จำนวนต้นต่อกอ และองค์ประกอบผลผลิต ได้แก่ จำนวนเมล็ดทั้งหมดต่อรวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง จำนวนเมล็ดลีบต่อรวง ผลผลิตต่อไร่ และคำนวณต้นทุนและกำไรสุทธิต่อไร่

 

ตารางที่ 2 ตำรับการทดลองปุ๋ยต่างๆ

ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง

การเจริญเติบโต

จากผลการทดลองพบว่าความสูงภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้งสูงกว่าการแบ่งใส่ 3 ครั้ง เท่ากับ 74.87 และ 69.13 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับจำนวนกอต่อตารางเมตร เท่ากับ 207.67 และ 186.00 กอต่อตารางเมตร ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนต้นต่อกอภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งสูงกว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เท่า 3.20 และ 2.53 ตามลำดับ (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 แสดงผลการเจริญเติบโตของข้าวพันธุ์ กข85 ภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 2 และ 3 ครั้ง

องค์ประกอบผลผลิต

จากผลการทดลองพบว่าจำนวนเมล็ดต่อรวงภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งสูงกว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เท่ากับ 89.73 และ 72.60 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) จำนวนเมล็ดดีต่อรวงภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งสูงกว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เท่ากับ 72.27 และ 53.73 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของผลผลิตต่อไร่โดยผลผลิตภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เท่ากับ 831 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง เท่ากับ 1,031 กิโลกรัมต่อไร่

ตารางที่ 4 แสดงผลองค์ประกอบผลผลิตของข้าวพันธุ์ กข85 ภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 2 และ 3 ครั้ง

ต้นทุนและกำไรสุทธิ

จากผลการทดลองพบว่าต้นทุนการผลิตภายใต้กรรมวิธีการแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งสูงกว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เท่ากับ 4,366 และ 4,316 บาทต่อไร่ ตามลำดับ (รูปที่ 1) ทั้งนี้เนื่องจากการแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งมีต้นทุนด้านค่าจ้างใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคำนวณกำไรสุทธิพบว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งมีกำไรสูงกว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เท่ากับ 2,641 และ 1,335 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากการแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง มีผลผลิตสูงมากกว่าการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้งจึงส่งผลให้กำไรสุทธิของตำรับการทดลองที่มีการแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้งสูงมากกว่า

รูปที่ 1 แสดงผลของการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 และ 3 ครั้ง ต่อต้นทุนการผลิตและกำไรสุทธิ

 

สรุปผลการทดลอง

จากผลการทดลองพบว่าการแบ่งใส่ปุ๋ยสำหรับข้าวพันธุ์ กข85 แบบแบ่งใส่ 3 ครั้ง ส่งผลให้น้ำหนักผลผลิตต่อเท่ากับ 1,031 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผลผลิตเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง และนอกจากนี้ยังส่งผลให้กำไรสุทธิภายใต้การแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง เท่ากับ 2,641 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า