สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)
ไนโตรเจนจัดเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการปริมาณมาก (macronutrient elements) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบหลายชนิดในพืช เช่น โปรตีน คลอโรฟิลล์ กรดนิวคลีอิก และวิตามิน เป็นต้น เมื่อพืชได้รับธาตุนี้ในปริมาณที่เพียงพอแล้วพืชจะเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรง ไนโตรเจนเป็นธาตุที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชให้ตั้งตัวได้เร็วในระยะแรก นอกจากนั้นยังช่วยทำให้ผลผลิตของพืชมีคุณภาพอีกด้วย อาการผิดปกติของพืชเมื่อขาดธาตุไนโตรเจน เนื่องจากไนโตรเจนเป็นธาตุที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายในพืช อาการผิดปกติเมื่อพืชขาดจะแสดงออกที่ใบแก่ก่อน กล่าวคือ ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม หรือสีเขียวอ่อน หรือสีขาว ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวนี้เรียกว่าคลอโรซิส (chlorosis) นอกจากนี้ที่ปลายใบและขอบใบจะค่อย ๆ แห้งและลุกลามเข้ามาเรื่อย ๆ จนในที่สุดใบที่แสดงอาการผิดปกติจะร่วงหล่นจากลำต้น นอกจากอาการผิดปกติจะเกิดขึ้นที่ใบแล้ว ที่ส่วนอื่น ๆ เช่น ลำต้นอาจมีสีเหลือง บางครั้งมีสีชมพูเจือปน ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็กและมีจำนวนน้อยกว่าปกติ พืชเจริญเติบโตช้ามาก หรือเกิดการชะงักการเจริญเติบโต
ปุ๋ยไนโตรเจนในท้องตลาดทั่วไปมีจำหน่ายหลากหลายรูป ได้แก่ สูตร 13-0-46, สูตร 15-0-0, สูตร 21-0-0, สูตร 27-0-0, และสูตร 46-0-0 ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแบบต่าง ๆ คือจะให้ธาตุไนโตรเจนเป็นหลักเหมือนกัน แต่ความเข้มข้นหรือปริมาณของไนโตรเจนในปุ๋ยแต่ละรูปแบบจะมากน้อยแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเกษตรกรสามารถเลือกใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ตามความต้องการของแต่ละพืช และความพึงพอใจในการเลือกใช้ของเกษตรกรอย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงในดินต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง เนื่องจากพืชจะสามารถดูดใช้ไนโตรเจนที่ได้จากการใส่ปุ๋ยได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จากไนโตรเจนที่ใส่ลงไปในดินทั้งหมด เนื่องจากไนโตรเจนสามารถสูญเสียได้ง่ายโดยการระเหิด และการชะล้าง
ดังนั้นหากต้องการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้เกิดประสิทธิภาพสูง และลดการเสียไปโดยเปล่าสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังนี้
1.ลดการสูญเสียจากการชะล้าง
ไม่ใส่ปุ๋ยในช่วงที่มีฝนตกหนัก เพราะจะทำให้น้ำฝนชะล้างธาตุอาหารไนโตรเจน และใช้ปุ๋ยในรูปแบบของแอมโมเนียม เนื่องจากเป็นรูปที่สามารถสูญเสียได้ยากกว่ารูปอื่น ๆ
2.ลดการสูญเสียจากการระเหิด
ไม่ใส่ปุ๋ยในวันที่อากาศร้อนหรือมีแสงแดดจัด เพราะจะทำให้ปุ๋ยไนโตรเจนระเหิดหายไปในอากาศได้
พรวนดินกลบหลังใส่ปุ๋ย จะช่วยลดการระเหิดได้
3.ลดการสูญเสียในสภาพน้ำขัง
ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปไนเตรทในพื้นที่น้ำขัง
ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเมื่อดินมีความชื้นที่เหมาะสม
4.ลดการสูญเสียจากการเก็บเกี่ยว
โดยการไถกลบเศษซากพืชในแปลง หรือนำไปทำปุ๋ยหมัก
อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงในดินต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการเลือกชนิดของปุ๋ยไนโตรเจน ปริมาณที่ต้องการใส่ จำนวนครั้งในการแบ่งใส่ ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงชนิดของพืชและชนิดของดินด้วย การใส่ในปริมาณที่มากเกินความต้องการของพืชอาจส่งผลให้เป็นพิษต่อพืช และเป็นการสิ้นเปลือง เนื่องจากเกินความสามารถของพืชในการกักเก็บของดินและการดูดใช้ของพืช
ที่มาของข้อมูล: กลุ่มงานวิจัยและพัฒนารูปแบบคำแนะนำการใช้ปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร