พื้นที่ที่ถูกขุดปลูกเป็นไร่อ้อย กว่า 600 ไร่ ในเขตตำบลหนองจาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในความดูแลของเกษตรกรวัยกลางคน คุณศรี ปานมา วัยเกือบ 70 ปี ชาวไร่อ้อย แต่กำเนิด
แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่คุณศรี ก็จัดว่าเป็นเกษตรกรตัวยงคนหนึ่ง ที่ตรากตรำ คร่ำเคร่งกับงานในอาชีพอย่างมั่นคง และมุ่งมั่นศึกษา พัฒนา เพื่อต่อยอด ให้การปลูกอ้อยที่ทำมาตลอดชีวิตมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
คุณศรี ไม่มีวุฒิการศึกษาใดมาประดับ อ่านและเขียนหนังสือได้ไม่มาก แต่ ณ วันนี้ รางวัลที่เป็นเครื่องการันตีว่าเกษตรกรผู้นี้มีคุณสมบัติน่ายกย่องให้เป็น “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ตามหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวจริง
การปลูกอ้อยที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา ของคุณศรี มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การไม่เผาใบอ้อยในไร่เฉกเช่นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วไป เป็นสิ่งที่คุณศรีทำมาตั้งแต่จำความได้ว่าเริ่มลงมือปลูกอ้อยทุกขั้นตอนด้วยตนเอง เหตุผลถูกอธิบายเพียงสั้นๆ ว่า ดินที่เสื่อมสภาพจากการเพาะปลูกหลายครั้ง ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพจากการขาดธาตุไนโตรเจน ใบอ้อยที่ถูกตัดทิ้งหลังเก็บเกี่ยว เป็นใบอ้อยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง หากไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกรอบต่อไป จะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดิน เป็นการบำรุงดิน ไม่สูญเสียแร่ธาตุในดิน เหมือนการเผาใบอ้อย ซึ่งการเผาใบอ้อยภายในไร่นั้น นอกจากจะไม่เป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินแล้ว ยังเป็นการทำลายหน้าดินและแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินชนิดอื่นให้หมดไปด้วย
แนวคิดที่เป็นเกร็ดเล็กน้อยนี้ ส่งผลให้คุณศรี มีความแตกต่างทางด้านความคิด รู้ศึกษา เพื่อนำมาต่อยอดกับการเกษตรที่ดำเนินอยู่ แม้จะถูกมองว่าแตกต่างจากเพื่อนบ้านในระยะแรก แต่ผลที่ตอบสนองกลับมา ทำให้คุณศรีได้รับการยอมรับว่า เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับหลักที่สำคัญของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตั้งแต่การมีความรู้ในอาชีพ การมีข้อมูลในการตัดสินใจ ที่สำคัญก็คือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นเครื่องมือทางการเกษตรที่คุณศรีเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะปัจจุบัน แรงงานคนในภาคเกษตรลดน้อยถอยลงไปทุกขณะ ถึงกับมีข่าวแพร่กระจายว่าในหลายพื้นที่ วิกฤตแรงงานภาคเกษตรอย่างหนักถึงขั้นตกเขียวแรงงานก็มี
คุณศรี เห็นความจำเป็นของเครื่องจักรกลการเกษตรมานานแล้ว ก่อนเกิดวิกฤตแรงงานภาคเกษตร โดยแรกเริ่มในอดีต รถไถเดินตาม เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรชิ้นแรก ที่ช่วยผ่อนแรงในไร่อ้อย ต่อมาการใช้แรงงานคนในการใส่ปุ๋ยไม่ครบถ้วน ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามต้องการ จึงคิดหาวิธีสร้างเครื่องใส่ปุ๋ย เพื่อให้อ้อยในไร่ได้รับปุ๋ยที่เท่ากัน ในที่สุด คุณศรีก็สามารถสร้างอุปกรณ์ต่อพ่วงเข้ากับรถไถเดินตาม เป็นเครื่องใส่ปุ๋ยภายในไร่อ้อยได้สำเร็จ
ปุ๋ยที่ใช้สำหรับอ้อย คุณศรีเลือกที่จะใช้เพื่อการกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกัน ไม่ให้ปุ๋ยละลายไปกับวัชพืชที่ไม่ต้องการปัญหาที่ตามมา คือ หากใช้ปุ๋ยน้ำผสมยากำจัดศัตรูพืชต่อเนื่องนาน จะทำให้ดินแข็ง เพราะไนโตรเจนในดินจะหมดไป ควรแก้ปัญหาด้วยการเว้นระยะการให้ปุ๋ยน้ำผสมยากำจัดศัตรูพืช 2-3 ปี ระหว่างนั้นใส่ปุ๋ยเคมีแทน แต่ควรให้ปุ๋ยที่มีค่าตัวท้าย หรือค่าโพแทสเซียม (K) สูงจะช่วยทดแทนกันได้
การเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยของคุณศรี ไม่ใช่เรื่องยาก การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทำให้คุณศรีได้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตอ้อยจากต่างประเทศ มาทดลองใช้ และได้ผลดี โดยเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่ประเทศออสเตรเลีย พบว่า การให้ปุ๋ยผ่ากลางกออ้อย จะทำให้อ้อยได้รับปุ๋ยทั่วถึงมากขึ้น ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การให้ปุ๋ยผ่ากลางกอเพิ่มผลผลิต ลดวัชพืช
ปกติใส่ปุ๋ยรอบกออ้อย ทำให้ปุ๋ยที่ให้แผ่กระจายออกด้านข้าง ไปยังส่วนที่เป็นดินหรือช่องว่างระหว่างกอ บริเวณดังกล่าวเมื่อมีปุ๋ยจะทำให้วัชพืชขึ้นง่ายให้ใช้เครื่องมือทางการเกษตรแหวกกลางกออ้อย จากนั้นจึงใส่ปุ๋ย ปุ๋ยจะแผ่กระจายออกด้านข้าง ทำให้กออ้อยทั้งสองด้านได้รับปุ๋ยเต็มที่ บริเวณพื้นที่ว่างระหว่างกอ ก็ไม่ได้รับปุ๋ย วัชพืชจึงไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้ปุ๋ยผ่ากลางกอวิธีนี้ ต้องใช้ลิปเปอร์ระเบิดดินดาน (เครื่องจักรกลการเกษตร) แทงดินลงให้ลึก จากนั้นเมื่อดินแตก ก็ให้ปุ๋ยลงไป จะทำให้ปุ๋ยลงลึกไปใต้กออ้อย อีกทั้งมีพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินสำหรับอ้อยด้วย
ปริมาณปุ๋ยจากเดิมที่ต้องให้อยู่ที่ 50-70 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อให้ด้วยวิธีผ่ากลางกอ จะลดปริมาณปุ๋ยลงเหลือเพียงไร่ละ 30 กิโลกรัมปัจจุบัน คุณศรีใช้แรงงานคนในภาคเกษตรเพียง 10-15 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพราะเชื่อมั่นในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เช่น เครื่องระเบิดดินดาน เครื่องให้ปุ๋ย เครื่องตัดอ้อย เครื่องพ่นยา เครื่องปลูก เป็นต้น
คุณศรี แนะนำเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง บางขั้นตอนของการทำการเกษตร ควรมีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย จะผ่อนแรงได้มาก และทำให้ผลผลิตได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
สำหรับคุณศรีแล้ว ไม่ใช่เพราะเขามีพื้นที่ปลูกอ้อยมาก แต่เพราะเขามีวิธีคิดที่แตกต่าง คุณศรี เห็นว่า ค่าจ้างตัดอ้อยตันละ 555 บาท รวมเบ็ดเสร็จค่าตัดอ้อยทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านบาท หากต้องจ่ายค่าตัดอ้อยทุกปี ปีละ 1.5 ล้านบาท แต่นำเงินส่วนนี้ไปผ่อนชำระค่างวดรถตัดอ้อย เพียง 5-6 ปี ก็มีรถตัดอ้อยเป็นของตนเองได้เช่นกัน
แม้ว่าปัจจุบัน คุณศรี จะมีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว แต่คุณศรีก็ยังไม่เลิกศึกษาค้นคว้าการพัฒนางานด้านการเกษตร เพราะมีความภูมิใจในอาชีพ หลักข้อสำคัญอีกข้อของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตร เป็นการพัฒนาและต่อยอดได้อย่างดี
ขอคำแนะนำ คุณศรี ปานมา
“สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” เกษตรกรตัวจริงคนนี้
ได้ที่ (081) 701-2812