ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยในปี 2563/2564 ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของผลผลิตข้าวทั่วโลก รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และเวียดนาม ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ของโลก และมีพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวประมาณ 62.92 ล้านไร่ ซึ่งมากถึงร้อยละประมาณ 46.1 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นข้าวนาปี หรือข้าวนอกเขตชลประทาน ประมาณ 47.04 ล้านไร่ และเป็นเขตชลประทานหรือข้าวนาปรังประมาณ 11.36 ล้านไร่ ซึ่งข้าวนาปรังในเขตที่มีชลประทานสามารถทำการเพาะปลูกได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง และมีผลผลิตผลิตเฉลี่ยสูงประมาณ 650 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละประมาณ 19.05 ของปริมาณผลผลิตต่อไร่ ประกอบกับโครงการของภาครัฐที่ช่วยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 รอบที่ 1 ได้มีการประกันราคาข้าว โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ความชื้นไม่เกิน 15%) อีกทั้งในปี 2565 ยังมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูกในเขตชลประทานมากขึ้น
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานเพียง 3.85 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11.08 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พื้นที่ดังกล่าวสามารถทำการผลิตข้าวได้ประมาณ 2-3 รอบต่อปี อีกทั้งผลผลิตต่อไร่ยังสูงกว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับข้าวนาปี และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานสูงที่สุด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีมากถึงประมาณ 614,722 ไร่ อีกทั้งยังมีการปลูกข้าวเหนียวมากกว่าข้าวเจ้า (1.06 และ 0.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ 2.46 เท่า) อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ดั้งเดิมที่ผ่านมา คือ “ข้าวล้ม” เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหน “แล้ง” ขาดน้ำ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ “โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง”
สำหรับในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ยังเริ่มมีการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างข้าวพันธุ์ RGD10033-77-MS เป็นพันธุ์แม่ และข้าวพันธุ์ RGD11169-MS8-5 เป็นพันธุ์พ่อ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยได้ข้าวที่มีลักษณะไม่ไวต่อช่วงแสง มีความหอมและต้านทานโรคไหม้ ขอบใบแห้ง และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ประมาณ 930 กิโลกรัมต่อไร่ (อ่อนแอต่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และใบจุดสีน้ำตาล) ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ของเกษตรกรที่ต้องการผลผลิตสูงและความยืดหยุ่นในการปลูกตามพื้นที่ โดยมีคุณสมบัติทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลับ ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง ลำต้นแข็งแรงไม่หักล้มง่าย ขนาดต้นสูงปานกลาง ทำให้เก็บเกี่ยวง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่ และแนวโน้มการทำนาในอนาคต ที่ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่น่าจับตามองว่าจะสามารถสร้างความแพร่หลายในการปลูกในเขตอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อีกหรือไม่
อ้างอิง
ข้าวนาปี.เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ จำาแนกตามเขตชลประทาน รายภาค และรายจังหวัด ปีเพาะปลูก 2563/64 ณ ความชื้น 15%
ชนิดข้าวนาปี. เนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร รายจังหวัด ปีเพาะปลูก 2563/64 วารสารเศรษฐกิจการเกษตร ปีที่ 68 ฉบับที่ 793 2565
กรมวิชาการเกษตร. 2548. คำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับพืชเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
รูปที่ 1.พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีชลประทานสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (https://rice.gistda.or.th/)
รูปที่ 2. ข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา” (ที่มารูป : เว็บไซต์ สวทช.การจัดการเทคโนโลยี https://elearn.career4future.com/)