สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)
ที่มาและความสำคัญ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารติดอันดับที่ 64 จาก 113 ประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในระดับปานกลาง (The economist group 2022) หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ คือ ประเทศไทยสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรเองได้ โดยข้าวขาวดอกมะลิ 105 ก็เป็นอีกหนึ่งพืชผลทางการเกษตรที่มีมูลค่าและเป็นที่นิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ในปี 2564/2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีประมาณ 63.01 ล้านไร่ และให้ผลผลิตประมาณ 26.81 ล้านตันข้าวเปลือก และมีผลผลิตประมาณ 423 กิโลกรัม (สภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญและแนวโน้มปี 2566) ซึ่งยังค่อนข้างน้อยหากเทียบกับข้าวสายพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจากพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตให้ได้ผลผลิตสูงเหมือนในภาคอื่น ๆ เช่น ปัจจัยเรื่องน้ำ และปัจจัยเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นต้น
สำหรับปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 จะให้ผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำ แต่การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัดจะได้รับ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ จังหวัดสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ สามารถเพิ่มมูลค่าทางทางเกษตรได้สูงกว่าข้าวทั่วไป ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ค่อนข้างน่าสนใจ และทางบริษัทก็ได้มีแปลงทดลองกึ่งสาธิตในพื้นที่ โดยนำองค์ความรู้ด้านการจัดการธาตุอาหารเพื่อนำมาประยุคใช้กับเทคนิคของเกษตรกร และพบว่า เกษตรกรในพื้นที่นิยมตัดใบข้าวในช่วงก่อนข้าวตั้งท้องประมาณ 1 เดือน เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชตามธรรมชาติและให้ผลผลิตที่น่าพึงพอใจ
ดังนั้น ทางแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จึงสนใจที่จะศึกษาเทคนิคการตัดใบและไม่ตัดใบ โดยกำหนดสัดส่วนของธาตุอาหารที่ลงดินใน 2 อัตรา เพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางและหาองค์ความรู้เพิ่มเติมจากเทคนิคต่าง ๆ ที่เกษตรกรใช้ และทางแผนกเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การจัดการธาตุอาหารที่ดีจะช่วยยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและมีปริมาณสูงเป็นที่น่าพึงพอใจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่
วิธีการทดลอง
ทำการทดลองใน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ประมาณจำนวน 4 ไร่ ทำการวิเคราะห์สมบัติของดินก่อนปลูกและหลังปลูกดังตารางที่ 2 ทำการปลูกโดยวิธีการหว่าน อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ จะแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 สูตร 16-8-8 bb ใส่ในช่วงระยะการเจริญเติบโตทางต้นและใบ (30 วัน) และครั้งที่ 2 สูตร
15-15-15 พรีเมียม ใส่ในช่วงระยะสะสมอาหาร (ก่อนข้าวออกรวง 20 วัน) โดยวิธีการหว่าน สำหรับการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 นั้น ทั้ง 2 ตำรับการทดลองจะใส่อัตราที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้สัดส่วนของธาตุอาหารที่ลงดินต่างกัน วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์โดยมีการจัดตำรับการทดลองแบบแฟคทอเรียล (Factorial in CRD) แบ่งออกเป็น 2 ตำรับการทดลอง 3 ซ้ำ คือ ตัดใบ (ก่อนข้าวตั้งประมาณ 1 เดือน) และไม่ตัดใบ ร่วมกับการใส่ปุ๋ย 2 อัตรา (N-P2O5-K2O) 10.8-8-8 และ 9-6-6 กิโลกรัมต่อไร่ของธาตุอาหารที่ลงดิน (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1. ตำรับการทดลอง ปริมาณธาตุอาหารที่ลงดิน และสูตรปุ๋ยที่ใช้
สมบัติเบื้องต้นของดินก่อนปลูก
ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 4.93 เป็นกรดจัดมาก เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ปริมาณอินทรียวัตถุในดินเท่ากับ 0.29 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในระดับต่ำมาก ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่สกัดได้เท่ากับ 1.85 และ 10.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อยู่ในระดับต่ำมาก และปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมที่สกัดได้เท่ากับ 235 และ 62.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2. ผลวิเคราะห์ดินก่อนปลูก
ผลการทดลอง
องค์ประกอบผลผลิต และผลผลิตข้าว
สำหรับผลของกรรมวิธีและสัดส่วนธาตุอาหารที่แตกต่างกันต่อร้อยละการติดเมล็ดหรือร้อยละของเมล็ดดี พบว่า ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 9-6-6 (T2B) ทำให้ร้อยละเมล็ดดีมีแนวโน้มสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T2A) รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 9-6-6 (T1B) และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 10.8-8-8 (T1A) (ร้อยละ 96.37, 95.66, 95.38 และ 94.82 ของน้ำหนักเมล็ดดีต่อตารางเมตร ตามลำดับ)
ผลของกรรมวิธีและสัดส่วนธาตุอาหารที่แตกต่างกันต่อน้ำหนักฟางแห้งต่อตารางเมตร พบว่า ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T1B) ทำให้น้ำหนักฟางแห้งมีแนวโน้มสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T2B) รองลงมา คือ ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 10.8-8-8 และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T1A) (1,880.30, 1727.40, 1579.20 และ 1526.90 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ)
ผลของกรรมวิธีและสัดส่วนธาตุอาหารที่แตกต่างกันต่อน้ำหนัก 1,000 พบว่า ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 9-6-6 (T2B) มีแนวโน้มทำให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ดสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T1A) รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T1B) และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T2A) (29.15, 28.00, 27.95 และ 27.70 กรัม ตามลำดับ) (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 3. แสดงร้อยละน้ำหนักเมล็ดดี น้ำหนักฟางแห้ง และน้ำหนัก 1,000 เมล็ด ในตำรับและสัดส่วนของธาตุอาหารที่แตกต่างกัน
ผลของกรรมวิธีและสัดส่วนธาตุอาหารที่แตกต่างกันต่อปริมาณผลผลิตของข้าวขาวดอกมะลิ 105 พบว่า ตำรับที่มีการตัดใบมีแนวโน้มให้ผลผลิตผลิตสูงกว่าทั้ง 2 สัดส่วนธาตุอาหาร 10.8-8-8 และ 9-6-6 โดยตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T2B) มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงที่สุด รองลงมา ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T2A) รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T1B) และมีแนวโน้มให้ผลผลิตต่ำที่สุดในตำรับที่ไม่มีการตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (717.20, 674.11, 638.72 และ 608.93 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ) (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 แสดงปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่ได้รับกรรมวิธีในการจัดการและสัดส่วนธาตุอาหารแตกต่างกัน
ต้นทุนและกำไรสุทธิ
ผลการทดลองทั้ง 2 ตำรับ ทั้งตัดใบและไม่ตัดใบต่อสัดส่วนของธาตุอาหารที่แตกต่างกัน พบว่า ตำรับที่มีการตัดใบมีและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T2A) มีต้นทุนต่อไร่สูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่มีการตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T2B) รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่มีการตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 10.8-8-8 (T1A) และมีต้นทุนต่ำที่สุดในตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T1B) (7,854.82, 7,643.44, 7,571.79 และ 7,477.74 บาทต่อไร่ ตามลำดับ)
สำหรับในส่วนของรายได้ทั้งหมด พบว่า ตำรับที่มีการตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T2B) รองลงมา คือ ตำรับที่มีการตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 10.8-8-8 (T2A) รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหาร 9-6-6 (T1B) และมีรายได้ต่ำที่สุดในตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 10.8-8-8 (T1A) (14,344.00, 13,482.20, 12,774.40, และ 12,178.60 บาทต่อไร่)
จากข้อมูลข้างต้นเมื่อนำมาคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ พบว่า ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ
9-6-6 (T2B) ทำให้มีกำไรสุทธิสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 10.8-8-8 (T1B) รองลงมา คือ ตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 9-6-6 (T1B) และมีมีกำไรสุทธิต่ำที่สุดในตำรับที่ไม่ตัดใบและได้รับธาตุอาหารแบบ 10.8-8-8 (T1A) (6,700.56, 5,627.38, 5,296.66 และ 4,606.81 บาทต่อไร่ ตามลำดับ) (ตารางที่ 4)
ตารางที่ 4. แสดงต้นทุน รายได้ และกำไรทั้งหมด
วิจารณ์ผลการทดลอง
ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิต
จากผลการทดลองในส่วนของการเจริญเติบโต พบว่า การตัดใบในทุกระดับธาตุอาหารที่ได้รับ
มีแนวโน้มดีกว่าการไม่ตัดใบ อาจเนื่องมาจาก การตัดใบจะช่วยลดการแข่งขันของวัชพืชในนาข้าว และเป็นการกระตุ้นให้เกิดใบใหม่ที่เป็นประโยชน์ในด้านการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตทางสรีระได้ดีกว่า ส่วนของน้ำหนักฟางการตัดใบและไม่ตัดใบไม่มีความแตกต่างกัน แต่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ (15263.90-1880.30 กิโลกรัมต่อไร่) (ตารางที่ 4) สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตต่อไร่ ซึ่งอยู่ในช่วง 608.93-717.20 กิโลกรัมต่อไร่ (รูปที่ 1) จัดอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ประมาณ 418 กิโลกรัมต่อไร่ (ระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านเกษตร, 2559) ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองของ Jiang et al. (1988) ที่พบว่า ปริมาณน้ำหนักแห้งที่สูงจะมีผลต่อปริมาณผลผลิตของข้าว (น้ำหนักแห้งทั้งหมด, กรัมต่อกอ)
ใบแก่จะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงได้ลดลงเนื่องจากเอนไซม์รูบิสโค (Rubisco) จะมีปริมาณลดลงไปด้วย ซึ่งในใบแก่ในแต่ละช่วงก็จะส่งผลต่อผลผลิตและน้ำหนักทั้งหมดของข้าว (Ray et al., 1983; Misra and Misra, 1991) และการสังเคราะห์ด้วยแสงของข้าวจะมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับปริมาณของเอนไซม์รูบิสโคเช่นกัน (Makino et al., 1983) อาจะเป็นไปได้ว่าการตัดใบในระยะเริ่มต้นอาจจะเป็นตัวช่วยให้เข้ามีการสร้างใบใหม่ที่มีการสังเคราะห์แสงได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพสูงกว่าใบแก่ เพื่อใช้ในการสร้างอาหารเตรียมให้ข้าวออกรวงได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งด้านการเจริญเติบโต หากพิจารณาถึงองค์ประกอบผลผลิตกลับพบว่า ร้อยละของเมล็ดดีต่อรวงและน้ำหนัก 1,000 เมล็ด (กรัม) กลับมีแนวโน้มที่ค่อนข้างสูงกว่าในตำรับที่มีการตัดใบมากกว่าไม่ตัดใบ (ตารางที่ 4) ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตต่อไร่เช่นกัน โดยพบว่า ตำรับที่มีการตัดใบให้ผลผลิตสูงกว่าทั้ง 2 ระดับปุ๋ย โดยระดับปุ๋ยที่ 1 (10.8-8-8) พบว่า การตัดใบให้ผลผลิตสูงมากถึง 674.11 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การไม่ตัดใบให้ผลผลิต 608.93 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นร้อยละประมาณ 10.70 ของปริมาณผลผลิตต่อไร่เมื่อเทียบกับตำรับที่ไม่มีการตัดใบ (รูปที่ 1) และระดับปุ๋ยที่ 2 (9-6-6) ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน (638.72 และ 717.20) ซึ่งมากกว่าการไม่ตัดใบร้อยละประมาณ 12.28 ของปริมาณผลผลิตต่อไร่เมื่อเทียบกับตำรับที่ไม่มีการตัดใบ (รูปที่ 1)
ในส่วนของต้นทุนและกำไรสุทธิก็เช่นเดียวกัน พบว่า การตัดใบนั้นทำให้ต้นทุนการผลิตรวมต่อไร่เพิ่มขึ้นประมาณ 283.03 บาทต่อไร่ในปุ๋ยอัตราที่ 1 และ 165.70 บาทต่อไร่ในปุ๋ยอัตราที่ 2 แต่ก็ทำให้รายรับและกำไรสุทธิสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในส่วนของกำไรในปุ๋ยอัตราที่ 1 หลังจากการตัดใบมีกำไร 5,627.38 บาท ซึ่งสูงกว่าการไม่ตัดใบร้อยละประมาณ 22.15 ของกำไรสุทธิในตำรับที่ใส่ปุ๋ยสูตรที่ 1 แบบไม่ตัดใบ และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,403.90 บาท หรือคิดเป็นร้อยละประมาณ 26.50 ของกำไรสุทธิในตำรับที่ใส่ปุ๋ยสูตรที่ 2 แบบไม่ตัดใบ (ตารางที่ 5)
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดลองนี้มีข้อสังเกตุ คือ การใช้ปุ๋ยทั้ง 2 อัตรา คือ 10.8-8-8 และ 9-6-6
(N-P2O5-K2O) ในพื้นที่ พบว่า การใช้ปุ๋ยแบบ N-P2O5-K2O 9-6-6 มีการตอบสนองที่ดีกว่าทั้งแบบที่มีการตัดใบและไม่ตัดใบ โดยพารามิเตอร์ที่ชี้วัดได้ดีในที่นี้ คือ ร้อยละของเมล็ดดีต่อรวง ซึ่งการใช้ปุ๋ยแบบ N-P2O5-K2O 9-6-6 ทำให้มีร้อยละการติดเมล็ดสูงกว่าการใช้ปุ๋ยแบบ N-P2O5-K2O 10.8-8-8 ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก การใช้ปุ๋ยแบบ N-P2O5-K2O 9-6-6 ในพื้นที่อาจจะมีการดูแลและการจัดการได้ดีกว่า เพราะหากมีการใช้ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่มีการจัดการที่เพิ่มขึ้นอาจะส่งผลให้ผลผลิตรวมต่อไร่ลดลง ถึงแม้ในด้านการเจริญเติบโตการใช้
N-P2O5-K2O 10.8-8-8 จะมีแรวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีกว่าก็ตาม (ด้านความสูงของต้น)
สรุปผลการทดลอง
การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในการทดลองนี้ พบว่า การตัดใบทำให้ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตบางประการของข้าวสูงกว่าการไม่ตัดใบ เช่น ร้อยละเมล็ดดีต่อรวง น้ำหนักเมล็ดดีต่อรวง และน้ำหนักแห้งฟาง เป็นต้น อีกทั้งต้นทุนการและกำไรสุทธิ การตัดใบก็ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการไม่ตัดใบเช่นกัน
ในส่วนของปุ๋ยทั้ง 2 อัตรา พบว่า การใช้ปุ๋ยแบบ 9-6-6 (N-P2O5-K2O) ให้ผลผลิตที่สูงกว่า อาจจะเนื่องจากการจัดการเรื่องโรคและแมลง และพบว่า การใช้ปุ๋ยแบบ 9-6-6 (N-P2O5-K2O) ก็ยังให้ผลตอบแทนกำไรสุทธิต่อไร่สูงที่สุดเช่นกัน
ข้อเสนอแนะ
ควรมีการทดลองซ้ำเรื่องการตัดใบและไม่ตัดใบเพื่อดูการตอบสนองอีกครั้งว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และการใช้ปุ๋ยแบบ 9-6-6 (N-P2O5-K2O) ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพึงพอใจร่วมกับการตัดใบเพื่อลดปัญหาการเกิดโรคและการกำจัดวัชพืชตามแบบที่เกษตรกรเคยใช้
เอกสารอ้างอิง
- สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2566, สำนักวิจัยเศรษฐกิิจการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิิจการเกษตร. 2566
- ระบบสารสนเทศการผลิตทางการเกษตร Online กรมวิชาการเกษตร, 2559 [สืบค้นเมื่อ 21/8/2566][http://www.agriinfo.doae.go.th/year59/plant/rortor/rice/rice1/rice13/rice32.pdf]
- Global Food Security Index 2022, ECONOMIST IMPACT, The economist Group. 2022
- Jiang CZ, Hirasawa T, Ishihara K (1988). Physiological and ecological characteristics of high yielding varieties in rice plants. J. Crop Sci. 57:132-138.
- Ray S, Mondal WA, Choudhuri MA (1983). Regulation of leaf senescence, grain-filling and yield of rice by kinetin and abscisic acid. Physiol. Plant. 59: 343-346.
- Misra M, Misra AN (1991). Hormonal regulation of detatched rice leaf senescene. In: PrakashR, Ali A (eds) Environmental Contamination and Hygien, Jagmandir Books, New Delhi, India, pp. 47-55.
- Makino A, Mae T, Ohira T (1983). Photosynthesis and ribulose -1, 5-bisphosphate carboxylase in rice leaves: changes in photosynthesis and enzymes involved in carbon assimilation from leaf development through senescence .plant physiol.73: 1002-1007.