กล้วย ผลไม้มากประโยชน์ เพราะไม่ว่าจะเป็นส่วนต้น ใบ ปลี หรือผล สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าได้อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ ตามความสะดวกของแต่ละคน ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยที่พบเห็นกันบ่อย ก็จะมีกล้วยตาก กล้วยอบ กล้วยชุบช็อกโกแลต รวมถึงการนำกล้วยมาเป็นท็อปปิ้งในเมนูของหวาน
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเกษตรกรไทยแล้ว ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ย่อมไม่แพ้ชาติใด เพราะล่าสุดมีเกษตรกรรุ่นใหม่ ดีกรีปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ที่กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มคุณค่าให้กล้วยมากกว่าเดิม และสร้างมูลค่าสูงสุด โดยการการนำกล้วยที่มีอยู่ในสวนมาแปรรูปเป็นแป้งกล้วย แป้งเพื่อสุขภาพที่ผู้ป่วยเบาหวาน และคนที่แพ้กลูเตนสามารถรับประทานได้
คุณวรวรรณ ธำรงวรางกูร หรือ คุณจอย อาศัยอยู่ที่ บ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัด นครนายก Young Smart Farmer คนเก่งแห่งนครนายก ที่พ่วงดีกรีปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท International Marketing Management University of Leeds ประเทศอังกฤษ ที่เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้ง 2 ที่ แต่อะไรคือจุดที่ทำให้นักเรียนนอกหันมาสนใจงานเกษตร และมุ่งมั่นเอาดีทางด้านนี้อย่างไม่ลังเล ตามมาหาคำตอบกัน
“แป้งกล้วย” ผลิตภัณฑ์เด่น ฝีมือเกษตรกรรุ่นใหม่สร้างอนาคตอุตสาหกรรมการแปรรูปจากกล้วย
คุณจอยบอกว่า ผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยนี้ต่อยอดมาจากกล้วยอบ เนื่องจากการทำกล้วยอบของธำรงฟาร์มจะมีกล้วยบางส่วนที่ไม่สามารถนำมาอบได้ ซึ่งคือกล้วยที่มีผลขนาดเล็กหรือใหญ่ไป รวมถึงพันธุ์กล้วยบางชนิดที่ไม่เหมาะกับการนำมาทำกล้วยอบ โดยปกติที่ฟาร์มจะนำกล้วยส่วนนี้ไปให้เป็ดกิน แต่เนื่องจากบางครั้งกล้วยที่ใช้ไม่ได้มีปริมาณมากเกินไป เป็ดกินไม่หมดก็ต้องนำไปทิ้ง จึงเกิดความเสียดายและพยายามคิดหาวิธีนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น จนได้ไปเห็นข่าวที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาแปรรูปสินค้าของตัวเอง ตนจึงเขียนบรรยายรายละเอียดของฟาร์มไป และได้รับคัดเลือก จากนั้นทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดจึงเข้ามาช่วยดูว่าที่ฟาร์มมีผลผลิตอะไรบ้าง จะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง เมื่อเขาเห็นว่าที่ฟาร์มมีกล้วยเยอะ เขาจึงแนะนำว่า จริงๆ แล้วกล้วยสามารถนำมาทำเป็นแป้งได้ ตนและพี่สาวมีความคิดเห็นตรงกันว่าการแปรรูปออกมาเป็นแป้งกล้วยนั้นน่าสนใจมาก จึงตอบตกลงที่จะทำโปรเจ็กต์นี้ ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมรวมถึงนักวิชาการจึงได้เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยจนสำเร็จขึ้นมา
“แป้งกล้วย” ทำอะไรได้บ้าง?
คุณจอยบอกว่า แป้งกล้วยสามารถนำมาทำขนมได้เหมือนแป้งทั่วไป ไม่ว่าจะคุกกี้ บราวนี่ วาฟเฟิล แพนเค้ก เค้ก แต่อาจจะได้เนื้อสัมผัสที่ต่างจากแป้งสาลี แป้งกล้วยถือเป็นแป้งทางเลือกสำหรับคนที่แพ้กลูเตน หรือผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถกินได้ เพราะตัวแป้งมีไฟเบอร์สูง น้ำตาลต่ำ ไม่มีกลูเตน เมื่อเปรียบเทียบกับการกินแป้งสาลี 100 เปอร์เซ็นต์ของแป้งสาลีจะเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาล แต่แป้งกล้วยนั้น 50 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนเป็นน้ำตาล อีก 50 เปอร์เซ็นต์เปลี่ยนเป็นไฟเบอร์ที่ช่วยปรับสมดุลในกระเพาะ และทำให้อิ่มท้อง
รสชาติ
เนื้อสัมผัสของแป้งกล้วยจะต่างจากแป้งสาลี ทำให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน เช่น คุกกี้ที่ทำจากแป้งกล้วยจะไม่ออกมาเป็นคุกกี้กรอบ แต่ก็ไม่นิ่มขนาดซอร์เบท์ จะเป็นกึ่งกลางระหว่างกัน เอกลักษณ์พิเศษคือไม่มีกลูเตน หรือถ้าผู้บริโภคต้องการให้สัมผัสคล้ายการใช้แป้งสาลีก็จะแนะนำให้ใช้แป้งกล้วยในสัดส่วน 75 กรัม ต่อแป้งสาลี 25 กรัม
กลุ่มลูกค้า
ด้วยความที่แป้งกล้วยมีราคาค่อนข้างสูง กลุ่มลูกค้าจึงเป็นคุณแม่ที่มีลูกแพ้กลูเตน หรือกลุ่มคนรักสุขภาพที่พยายามเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีต่อร่างกาย ทดแทนแป้งสาลี
ขั้นตอนการทำแป้งกล้วย
1.นำกล้วยดิบมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด ที่สำคัญคือการเลือกกล้วย เพราะไม่ใช่ว่ากล้วยทุกลูกจะใช้ได้ หากสุกเกินไปก็ไม่ออกมาเป็นแป้ง ต้องใช้กล้วยที่สุกพอดี เริ่มเหลืองก็ไม่ได้ ผิวเริ่มนิ่มก็ไม่ได้ ต้องประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
2.นำกล้วยมาหั่น แล้วนำไปใส่ตู้อบนาน 8 ชั่วโมง จนแห้ง
3.นำมาปั่น และร่อนจนละเอียดเพียงพอต่อการเป็นแป้งเบเกอรี่
สัดส่วนการแปรรูป
กล้วย 1 หวี ที่เห็นหนักๆ เมื่อนำมาทำแป้งแล้วจะเหลือเพียงแค่นิดเดียว เช่น แป้งกล้วยปริมาณ 700 กรัม ต้องใช้กล้วยประมาณ 10 หวี ถ้านับเป็นกิโลก็ใช้ประมาณเกือบ 10 กิโลกรัม ถึงจะได้แป้งออกมา 700 กรัม แป้งกล้วยจึงมีราคาค่อนข้างสูง เพราะต่อให้ต้นทุนค่ากล้วยหวีละ 10 บาท ต้นทุนก็เป็น 100 บาทแล้วยังไม่รวมต้นทุนในส่วนอื่นๆ ด้วย
ปริมาณการผลิต
โดยเฉลี่ยต่อเดือนสามารถผลิตแป้งกล้วยได้ 40 กิโลกรัม ยังถือว่าผลิตได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นการที่จะนำฝากขายที่อื่นยังทำไม่ได้ เพราะยังผลิตได้ไม่มากพอ จะเน้นขายเองเป็นหลัก และเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าเราจริงๆ
รายได้ต่อเดือน
ช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด-19 มีรายได้ 70,000 บาทขึ้นไป และคิดว่าตนเองคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจมาเป็นเกษตรกร เพราะถือว่าคุ้มค่ามากๆ และคิดว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต่อยอดไปได้อีก อย่างเช่นตอนนี้ที่ฟาร์มยังใช้ประโยชน์จากกล้วยได้ไม่มากพอ ยังใช้ได้แค่ผล แต่ในอนาคตอยากต่อยอดสร้างมูลค่าจากหัวปลี หรือแม้กระทั่งกับต้นกล้วย ใบกล้วย ซึ่งมีการวางแผนที่จะทำภายใน 1-2 ปีนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กล้วยแต่ละต้นมีมูลค่าที่สูงขึ้นจากเดิม