การพัฒนาแนวทางการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิตสำหรับปาล์มน้ำมัน

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ที่มาและความสำคัญ

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมไบโอดีเซล อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ อุตสาหกรรม Oleochemicals เป็นต้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจากทั่วโลก (เพื่อบริโภคและผลิตเป็นเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4% ต่อปี แม้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.9% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก จึงไม่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะกำหนดทิศทางราคาเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร (สัดส่วนรวมกันเกือบ 60%) ที่เหลือ 13.6% กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 6.1 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,897 กิโลกรัมต่อไร่ โดยปัจจัยที่สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น พันธุ์ของปาล์มน้ำมันที่ดี คือ ปาล์มพันธุ์เดลิคอมแพ็ค ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงมากกว่า 30% น้ำหนักทะลายเฉลี่ยมากกว่า 22 กิโลกรัม (เมื่อโตเต็มที่) ทนแล้งปานกลาง – สูง และผลผลิตเฉลี่ยสูง 5 ตันต่อไร่ต่อปี นอกจากพันธุ์ปาล์มที่ดียังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตปาล์มน้ำมัน คือ การจัดการธาตุอาหารที่ถูกวิธี ดังนั้น บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จึงทำการศึกษาและพัฒนาแนวทางการจัดการธาตุอาหารสำหรับปาล์มน้ำมัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตของปาล์มน้ำมัน และกำไรสุทธิของเกษตรกร ที่ได้รับปุ๋ยสูตรต่างกัน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลแนวทางการใช้ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ที่เหมาะสำหรับปาล์มน้ำมันเขตภาคใต้

อุปกรณ์ และวิธีการทดลอง

ทำการทดลอง ณ แปลงทดลองปาล์มน้ำมัน ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ใช้ปาล์มน้ำมันสายพันธุ์เดลิคอมแพ็คจำนวน 36 ต้น วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design ทำการทดลองจำนวน 4 ซ้ำ ๆ ละ 9 ต้น ประกอบด้วย 4 ตำรับการทดลอง ดังนี้

1. 13-13-21 PRE (พรีเมี่ยม)
2. 12-9-21
3. 20-8-20 BB (พลังสอง)
4. แนวทางเกษตรกร

โดยทุกตำรับการทดลองมีการใส่ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ตามตำรับการทดลอง อัตรา 7.5 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งละ 2.5 กิโลกรัม ร่วมกับปุ๋ย 21-0-0 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ 1 ครั้ง โดยใส่ในครั้งที่ 1 และ 0-0-60 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 กิโลกรัม โดยใส่ในครั้งที่ 2 และ 3

การเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล

เก็บตัวอย่างดินก่อนและหลังทำการทดลอง เพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของดิน ใส่ปุ๋ยเคมีตามตำรับการทดลอง เก็บข้อมูลผลผลิตทะลายสด จำนวนทะลาย เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลาย และผลผลิตน้ำมันต่อไร่ ทุก ๆ 20 วัน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ คำนวณหาต้นทุน และกำไรสุทธิของผลผลิต

ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง

ผลผลิตของปาล์มน้ำมัน

จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนลักษณะผลผลิตทะลายสดพบว่าไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (รูปที่ 1) โดยปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีแนวโน้มให้ผลผลิตทะลายสดสูงที่สุดเฉลี่ย 7,614 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี รองลงมาได้แก่ปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกร, 20-8-20 BB และ 13-13-21 PRE โดยให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ย 7,549 7,349 และ 6,856 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีตามลำดับ

จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนลักษณะจำนวนทะลายพบว่า ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (รูปที่ 2) โดยปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีแนวโน้มให้จำนวนทะลายสูงที่สุดเท่ากับ 676 ทะลายต่อไร่ต่อปี รองลงมาได้แก่ปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 20-8-20 BB, แนวทางเกษตรกร และ 13-13-21 PRE โดยให้ผลผลิตทะลายสดเท่ากับ 669 650 และ 640 ทะลายต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ
จากผลการทดลองพบว่าปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีปริมาณธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมเป็นองค์ประกอบ คือ แมกนีเซียม กำมะถัน และโบรอน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตของปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีสัดส่วนของไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียม (N-NH4+) ค่อนข้างสูงและสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ของประเทศไทยเป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุก จึงส่งผลให้แอมโมเนียมไนโตรเจนอยู่ในดินได้นานยิ่งขึ้น และค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาเป็นประโยชน์กับพืชอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น

คุณภาพของผลผลิต

จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนลักษณะเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลายพบว่า ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (รูปที่ 3) โดยปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกร มีแนวโน้มให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลายสูงที่สุดเท่ากับ 28.16 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาได้แก่ปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 20-8-20 BB, 12-9-21 และ 13-13-21 PRE โดยให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลายเท่ากับ 28.10 28.04 และ 27.94 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนลักษณะผลผลิตน้ำมันต่อไร่ต่อปีพบว่า ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (รูปที่ 4) โดยปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีแนวโน้มให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่สูงที่สุดเท่ากับ 2,130 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี รองลงมาได้แก่ปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร แนวทางเกษตรกร, 20-8-20 BB, และ 13-13-21 PRE โดยให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่เฉลี่ยเท่ากับ 2,125 2,070 และ 1,926 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ

จากผลการทดลองพบว่าการใช้ปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกร ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลายสูงที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากแนวทางเกษตรกร มีปริมาณโพแทสเซียมค่อนข้างสูงมากกว่าสูตรอื่น ๆ แต่เมื่อคำนวณรวมกับปริมาณผลผลิตทั้งหมดคิดเป็นผลผลิตน้ำมันต่อไร่พบว่าปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีปริมาณผลผลิตสูงที่สุดจึงมีผลผลิตน้ำมันต่อไร่มากที่สุด

ต้นทุนและกำไรสุทธิ

จากผลการทดลองพบว่าต้นทุนต่อไร่ของการจัดการการผลิตปาล์มน้ำมันสูงที่สุดภายใต้ตำรับการทดลองที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 เท่ากับ 13,543 บาทต่อไร่ รองลงมาได้แก่ปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกร, 20-8-20 BB, และ 13-13-21 PRE มีต้นทุนต่อไร่เท่ากับ 13,506 12,964 และ 12,756 บาทตามลำดับ ในขณะที่ผลกำไรสูงที่สุดภายใต้ตำรับการทดลองที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 เท่ากับ 18,968 บาท รองลงมาได้แก่ ปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกร, 20-8-20 BB, และ 13-13-21 PRE มีกำไรสุทธิต่อไรเท่ากับ 18,727 18,414 และ 16,517 บาท ตามลำดับ (รูปที่ 5)

ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตคำนวณจากค่าการจัดการต่าง ๆ ภายในแปลง และปัจจัยการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ราคาปุ๋ยแต่ละสูตรมีความแตกต่างกันไปหากเปรียบเทียบเฉพาะต้นทุนการผลิตด้านราคาปุ๋ยพบว่าการใส่ปุ๋ยสูตร แนวทางเกษตรกร มีต้นทุนสูงที่สุดเท่ากับ 3,350 บาทต่อไร่ รองลงมาเป็นการใส่ปุ๋ยสูตร 12-9-21, 13-13-21 PRE และ 20-8-20 BB มีต้นทุนค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเท่ากับ 3,321 3,293 และ 3,008 บาทต่อไร่ แต่เมื่อคิดต้นทุนรวมต่อไร่พบว่าปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีต้นทุนรวมสูงที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากอัตราค่าจ้างการจัดการด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตคิดเป็นราคาต่อกิโลกรัม และจากผลการทดลองพบว่าปาล์มน้ำมันที่ได้รับปุ๋ยสูตร 12-9-21 ให้ผลผลิตทะลายสดสูงที่สุดจึงส่งผลให้ต้นทุนรวมของการใส่ปุ๋ยสูตร 12-9-21 สูงขึ้น

สรุปผลการทดลอง

1. การใช้ปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีแนวโน้มให้มีปริมาณผลผลิตทะลายสูงที่สุดเท่ากับ 7,614 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และจำนวนทะลายสูงที่สุดเท่ากับ 676 ทะลายต่อไร่ต่อปี
2. การใช้ปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกร มีแนวโน้มให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันทะลายสูงที่สุดเท่ากับ 28.16 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การใช้ปุ๋ยสูตร 12-9-21 มีแนวโน้มให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่สูงที่สุดเท่ากับ 2,130 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
3. การใช้ปุ๋ยสูตร 12-9-21 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิสูงที่สุดเท่ากับ 18,964 บาทต่อไร่

ที่มา: แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2563-2565: อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (ชัยวัช โซวเจริญสุข, 2563)
พื้นที่ปลูก ผลผลิตเฉลี่ยปาล์มน้ำมันในประเทศไทย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2562)
ลักษณะประจำพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์เดลิคอมแพ็ค (บริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด, 2564)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า