ในดินมีธาตุอาหารบางธาตุมากเกินไป ดีหรือไม่ ⁉️

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ธาตุอาหารพืชเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการต่าง ๆ ในพืช ซึ่งทำให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างปกติ และมีศักยภาพในการสร้างผลผลิตได้อย่างเต็มที่ ดินเป็นแหล่งกักเก็บธาตุอาหารที่สำคัญของพืช ซึ่งพืชต้องการธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง-เสริม แตกต่างกันออกไปตามชนิดและระยะการเจริญเติบโต เช่น ในระยะการเจริญเติบโตทางต้นและใบ พืชบางชนิดต้องการไนโตรเจนในปริมาณสูงกว่าธาตุอื่น ๆ หรือในกรณีของพืชหัวซึ่งในกระบวนการสร้างหัว และการสะสมอาหาร พืชต้องการธาตุโพแทสเซียมในประมาณสูง เพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายธาตุอาหาร สังเคราะห์แป้งและน้ำตาล เป็นต้น ดังนั้น ความสมดุลของธาตุอาหาร (Nutrients Balance) ในดินจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิตของพืช

ธาตุอาหารพืชในดินทุกธาตุมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งแบ่งความสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืชออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

ส่งเสริม (Synergistic) คือ
สภาวะที่ธาตุอาหารชนิดหนึ่งช่วยเพิ่มความพร้อมหรือช่วยเสริมฤทธิ์ของธาตุอาหารอื่น ๆ ในดิน เช่น ส่งเสริมการดูดซึมเข้าสู่พืช ช่วยเพิ่มการทำงานของกระบวนการต่าง ๆ ในพืช
ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมระหว่างธาตุกำมะถัน (S) และไนโตรเจน (N) ซึ่งธาตุอาหารทั้งสองธาตุมีบทบาทและหน้าที่บางอย่างคล้ายคลึงกันคือ เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ และโปรตีน ดังนั้น หากพืชขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง การสังเคราะห์คลอโรฟิลล์และโปรตีนจะถูกจำกัด ส่งผลให้พืชแสดงอาการใบเหลืองเนื่องจากภาวะพร่องคลอโรฟิลล์

ยับยั้ง (Antagonistic) คือ
สภาวะที่ธาตุอาหารชนิดหนึ่งยั้บยั้ง หรือขัดขวางการทำงานและการดูดใช้ธาตุอาหารอื่น ๆ ในดิน หรือที่เรียกว่าสภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ยกตัวอย่างเช่น การยับยั้งการดูดใช้แมกนีเซียม (Mg) เมื่อในดินมีปริมาณโพแทสเซียม (K) และแคลเซียม (Ca) สูงมากเกินไป เนื่องจากธาตุดังกล่าวมีไอออนที่เหมือนกันจึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันในการดูดซึม หรือในกรณีที่ดินมีฟอสฟอรัส (P) สะสมในดินในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งธาตุฟอสฟอรัสมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาการตกตะกอนกับธาตุแคลเซียม (Ca) และ เหล็ก (Fe) ในดิน ซึ่งส่งผลให้ธาตุเหล่านั้นละลายออกมาเป็นประโยชน์กับพืชได้ยากขึ้น และอาจจะส่งผลให้พืชแสดงอาการขาดธาตุนั้น ๆ ได้

จะเห็นได้ว่าการที่ในดินมีธาตุอาหารธาตุใดธาตุหนึ่งเยอะมากเกินความจำเป็นจะส่งผลให้ธาตุดังกล่าวไปยับยั้ง และขัดขวางการทำงานของธาตุอื่น ๆ ดังนั้น การจัดการธาตุอาหารในแปลงควรคำนึงถึงหลักการใส่ปุ๋ย 4 ประการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูง ลดการสูญเสียธาตุอาหาร และการตกค้างในดิน คือ ถูกสูตร ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบถ้วนตามชนิดและความต้องการของพืช ถูกเวลา ควรใส่ปุ๋ยให้ตรงตามระยะการเจริญเติบโตของพืช เช่น ระยะการเจริญเติบโตทางต้นและใบ ระยะสะสมอาหาร และระยะเพิ่มคุณภาพผลผลิต ถูกอัตรา ใช้ปริมาณปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม หากใส่ปุ๋ยในปริมาณมากเกินไปอาจจะส่งผลให้เป็นพิษต่อพืช หรือหากใส่ในปริมาณน้อยเกินไปอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช และถูกวิธี ควรฝังกลบปุ๋ยเพื่อกันการสูญเสียธาตุอาหารพืช

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า