แปลงทดลองกึ่งสาธิตเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ย แบบไม่บรรจุถุงกระดาษและปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษ ต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ที่มาและความสำคัญ

มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าจะไม่ใช่สินค้าเกษตรหลัก แต่เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้ที่มีการปลูกอย่างแพร่หลาย และมีพื้นที่ปลูกมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น มะม่วงจึงเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ รายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรจำนวนมาก นอกจากนี้มะม่วงยังเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพในการพัฒนา ทั้งด้านการผลิต และด้านการตลาดอยู่ในระดับที่สูง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มะม่วงเป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทยจำนวน 6 ชนิด ที่ได้รับการเลือกให้เป็นผลไม้เศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2553-2557 (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2559) สำหรับในปี 2558 ผลผลิตมะม่วงใช้ในประเทศ 3.06 ตัน และส่งออกมะม่วงไปตลาดโลกรวมทั้งหมด 71,075 ตันสด มะม่วงสายพันธุ์ที่เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ คือ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เป็นพันธุ์ที่กลายจากพันธุ์น้ำดอกไม้ ผลรูปทรงรี ผิวผลเหลืองทองทั้งผลตั้งแต่ยังไม่แก่จัด เมื่อบ่มสุกมีสีเหลืองสดใส เปลือกหนากว่าพันธุ์น้ำดอกไม้ ทนทานต่อการขนส่ง รสหวานน้อยกว่าน้ำดอกไม้เบอร์ 4 เล็กน้อย และเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นชนิดรับประทานผลสุก ที่มีผิวสวยงาม ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อมาก เนื้อผลละเอียดมีสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่น และรสชาติหอมหวาน จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป ทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดในต่างประเทศ (จารุวรรณ และคณะ, 2561)

 

การใส่ปุ๋ยเป็นปัจจัยที่สำคัญในการรักษาระดับและคุณภาพของผลผลิตมะม่วง แต่อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยเคมีก็มีข้อจำกัด เช่น เกิดการสูญเสียไปจากดินได้โดยการชะล้างหรือระเหยไปในอากาศ การตกค้างในดินและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเทคโนโลยีด้านการควบคุมการละลายหรือการปลดปล่อยของปุ๋ยเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจที่จะนำมาปรับใช้ในไม้ผล เนื่องจากไม้ผลเป็นพืชที่มีการใส่ปุ๋ยในอัตราที่ค่อนข้างสูง ใส่ค่อนข้างบ่อยครั้ง และใส่ในหลายระยะตลอดฤดูกาล

 

การใช้ภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้บรรจุปุ๋ยเพื่อควบคุมการละลายปุ๋ยเป็นวิธีหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อควบคุมการละลายของปุ๋ย หลักการคือ การนำปุ๋ยสูตรต่างๆ บรรจุลงในภาชนะที่ภายนอกเคลือบสารป้องกันความชื้น และภายในเป็นเยื่อพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เมื่อภาชนะได้รับความชื้นจากดินจะย่อยสลาย ปุ๋ยที่บรรจุอยู่ภายในจะค่อยๆ ปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 1) ระยะเวลาในการปลดปล่อยขึ้นอยู่กับชนิดสารเคลือบและเยื่อพลาสติกภายในที่ใช้บรรจุ


ขั้นตอนการดำเนินการทดลอง

ทำการทดลองเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยแบบเม็ด และแบบบรรจุถุงกระดาษต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตในระยะพัฒนาต้น และระยะให้ผลผลิตของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ดำเนินการทดลองในแปลงของเกษตรกร อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ผลการทดลอง

การทดลองที่ 1 มะม่วงระยะพัฒนาต้น (มะม่วงอายุ 1 ปี)

จากการเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยแบบเม็ด และแบบบรรจุถุงกระดาษต่อการเจริญเติบโตของมะม่วงในระยะพัฒนาต้นพบว่าการใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 แบบบรรจุถุงกระดาษมีค่าเฉลี่ยความสูงของกิ่งหลักเท่ากับ 161 เซนติเมตร และการใส่ปุ๋ยแบบเม็ดมีค่าเฉลี่ยความสูงของกิ่งหลักเฉลี่ยเท่ากับ 106 เซนติเมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าการประยุกต์ใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษในระยะพัฒนาต้น มีประสิทธิภาพในการพัฒนาลำต้นและใบมากกว่าการใช้ปุ๋ยแบบเม็ด ในขณะที่ค่าเฉลี่ยความสูงของกิ่งรองมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ยความสูงของกิ่งหลักคือ ค่าเฉลี่ยความสูงของกิ่งรองภายใต้การใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษเท่ากับ 129 เซนติเมตร และปุ๋ยแบบเม็ดเท่ากับ 106 เซนติเมตร (รูปที่ 2)

การทดลองที่ 2 มะม่วงระยะให้ผลผลิต

จากการเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยแบบเม็ด และแบบบรรจุถุงกระดาษต่อการเจริญเติบโตของมะม่วงในระยะพัฒนาผลพบว่าการใช้ปุ๋ยสูตร 12-9-21 แบบบรรจุเม็ดมีค่าเฉลี่ยจำนวนผลต่อช่อเท่ากับ 1.5 ผล ซึ่งมีแนวโน้มจำนวนผลต่อช่อมากกว่าการใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษ เท่ากับ 1.4 ผล (รูปที่ 3) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยน้ำหนักผลและความหนาของเนื้อพบว่าการใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษมีแนวโน้มส่งผลให้น้ำหนักและความหนาของเนื้อสูงกว่าการใช้ปุ๋ยแบบเม็ด น้ำหนักผลภายใต้การใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษและการใช้ปุ๋ยแบบเม็ดเท่ากับ 437.9 และ 394.5 กรัม ตามลำดับ (รูปที่ 3) ความหนาของเนื้อภายใต้การใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษและการใช้ปุ๋ยแบบเม็ดเท่ากับ 2.9 และ 2.7 เซนติเมตร ตามลำดับ (รูปที่ 3)

 

สรุปและวิจารณ์ผลการทดลอง

จากผลการทดลองพบว่าการใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษส่งผลให้ความสูงของมะม่วงอายุ 1 ปี ทั้งกิ่งหลัก และกิ่งรองสูงมากกว่าการใช้ปุ๋ยแบบเม็ด ในขณะที่การเปรียบเทียบแบบบรรจุถุงกระดาษและการใส่ปุ๋ยแบบเม็ดต่อผลของผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตในมะม่วงระยะให้ผลผลิตยังไม่เห็นความแตกต่างไม่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มว่าการใช้ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษส่งผลให้น้ำหนักสดของผลมะม่วง และความหนาเนื้อของมะม่วงสูงกว่าการใส่ปุ๋ยแบบเม็ด ทั้งนี้เนื่องด้วยในช่วงพัฒนาต้น (มะม่วงอายุ 1 ปี) การดูดใช้ธาตุอาหารของมะม่วงอาจจะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าระยะให้ผลผลิต จึงส่งผลให้การใส่ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษ และปุ๋ยจะค่อยๆปลดปล่อยออกให้พืชดูดใช้เพียงต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงเห็นผลที่ชัดเจนมากกว่า ในขณะที่มะม่วงในระยะให้ผลผลิตต้องการธาตุอาหารในระดับที่สูงมากขึ้น การใส่ปุ๋ยแบบบรรจุถุงกระดาษ อาจจะจำเป็นต้องมีการคำนวน หรือปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการใส่ปุ๋ย เพื่อให้ธาตุอาหารที่ปลดปล่อยออกมาจากย่อยสลายของถุงกระดาษเพียงพอต่อความต้องการตามระยะการการให้ผลผลิตของมะม่วง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมส่งเสริมการเกษตร, 2559. มะม่วง. ระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านเกษตร Online กรมส่งเสริมการเกษตร. แหล่งที่มา: http://www.agriinfo.doae.go.th/year59/plant/rortor/fruit2/, 25 มกราคม 2564.

กรมวิชาการเกษตร, 2556. องค์ความรู้เพิ่มประสิทธาภาพการผลิตสู่การเป็น Smart Officer ไม้ผล ไม้ยืนต้น, น. 47-57

จารุวรรณ สิงห์ม่วง ปิยะวดี กิ่งมาลา นันทพร บุญสุข สมพล พวงสั้น และส่งศรี สินสมใจ, 2561. การผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา. เกษตรพระจอมเกล้า 36 (3) : 13-22.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า