เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สับปะรดห้วยมุ่น” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยระบุว่า สับปะรดห้วยมุ่น หมายถึงสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่มีผิวบาง ตาตื้น เนื้อหนานิ่ม สีเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานหอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ตำบลห้วยมุ่นและตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวคือ พฤศจิกายน-มกราคม และกลางเดือนเมษายน-กรกฎาคม ช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวคือ ตั้งแต่กุมภาพันธ์-เมษายน และ สิงหาคม-ตุลาคม
ระยะทางจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ถึงตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด เกือบ 100 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะเป็นลักษณะเขาชัน คดเคี้ยว หากไม่คุ้นชินเส้นทางจะใช้เวลาเดินทางนาน ต่างจากคนในพื้นที่
คุณบันแล และคุณรัตนาพรรณ มาดีคาน สองสามีภรรยา ชาวตำบลห้วยมุ่น เจ้าของแปลงสับปะรดห้วยมุ่น พื้นที่ 20 ไร่ เกิดและเติบโตในพื้นที่ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของพืชในท้องถิ่น เห็นว่าเมื่อก่อนที่พื้นที่ห้วยมุ่นเต็มไปด้วยแปลงสับปะรด เช่นเดียวกับตำบล และอำเภออื่นในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่บริเวณบ้านของคุณรัตนาพรรณ มีสับปะรดที่ปลูกไว้รับประทาน แต่ไม่ทราบว่า สับปะรดชนิดนี้เป็นพันธุ์อะไร
คุณรัตนาพรรณจึงลองนำสับปะรดที่ปลูกอยู่ข้างบ้าน ขยายหน่อมาลงปลูก 2 ไร่ หวังจะใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการปลูกขาย เมื่อมีแม่ค้ามารับซื้อผลไม้ก็ขายให้ เพราะยังไม่รู้จักตลาด ซึ่งเป็นโอกาสดี เพราะสับปะรดที่ขายในครั้งนั้น ทำให้แม่ค้าสนใจหวนกลับมาซื้ออีกครั้งด้วยเหตุผลว่า ลูกค้าติดใจในรสชาติของสับปะรด
จาก 2 ไร่ ก็ค่อยๆ ขยายจนเต็มพื้นที่ 20 ไร่ในปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นที่รสชาติของสับปะรดถูกปากคนพื้นราบ จนเรียกกันติดปากว่า “สับปะรดห้วยมุ่น”
แม้จะคาดเดากันว่าสับปะรดห้วยมุ่นแท้จริงแล้วคือ สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย แต่ก็มีความแตกต่างในตัวของสับปะรดเองสูง ซึ่งเกิดจากสภาพดินปนทราย สภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน และชื้นในตอนกลางคืนส่งผลให้เกิดน้ำค้างในตอนเช้ามืด ยิ่งฤดูแล้งหมอกและน้ำค้างยิ่งมีจำนวนมาก
คุณรัตนาพรรณ บอกว่า ความพิเศษของสับปะรดห้วยมุ่นจะอยู่ที่ความหวาน หอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ผิวบาง แม้ว่าจะนำตอสับปะรดไปปลูกยังตำบลที่ห่างกันเพียง 8-9 กิโลเมตร รสชาติของสับปะรดก็จะแตกต่างกับสับปะรดห้วยมุ่น แต่เมื่อชาวบ้านรู้ว่าตลาดต้องการสับปะรดห้วยมุ่นสูง ทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเริ่มหันมาปลูกสับปะรดห้วยมุ่นกันเกือบทั้งหมด และถือเป็นเรื่องดีที่มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงแปลงและราคาที่ซื้อขายกันก็เป็นราคาที่ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้
คุณรัตนาพรรณ เผยเทคนิคการดูแลสับปะรดให้ได้ผลผลิตที่ดี มีน้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ โดยน้ำหนักที่ตลาดต้องการจะอยู่ที่ 2,500 กรัม หรือไม่น้อยกว่า 1,500 กรัม จึงจะถือว่าไม่ตกเกรด ถ้าน้อยกว่า 1,500 กรัมก็จะขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคารับซื้อทั่วไป
ในการปลูกสับปะรดนั้น เมื่อได้ผลผลิตรอบแรกแล้วจะต้องรออีก 4 เดือน จึงจะมีผลผลิตให้เก็บขายได้อีก ซึ่งในการปลูกสับปะรดหนึ่งครั้งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 4 รอบขึ้นไปสำหรับคุณบันแล และคุณรัตนาพรรณ เก็บผลผลิตเพียง 4 รอบเท่านั้น เพราะเห็นว่า ผลผลิตครั้งต่อไปจะให้ผลที่ไม่สมบูรณ์หรือมีขนาดเล็ก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ยกเว้นเกษตรกรบางแปลงที่ต้องการเร่งให้สับปะรดให้ผลผลิตเร็วเก็บขายก่อน ก็จะใช้ฮอร์โมนหยอดยอดสับปะรด เมื่อสับปะรดมีอายุ 6 เดือนหลังลงปลูก เพื่อเร่งให้ติดผล แต่ข้อเสียของการใช้ฮอร์โมนหยอดเร่งให้ติดผลเร็ว คือ ต้นโทรม ส่งผลให้ผลผลิตน้อย และไม่สมบูรณ์ ซึ่งปริมาณของผลผลิตที่เก็บขายในแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 120 ตัน
ในเรื่องวัชพืชของสับปะรดจะมีพบอยู่บ้าง เมื่อสับปะรดยังเติบโตไม่เต็มที่ จำเป็นต้องใช้ยากำจัดวัชพืช ข้อควรระวังหากสับปะรดให้ดอก ควรงดพ่นยากำจัดวัชพืช เพราะจะทำให้ผลที่ออกมาแคระแกร็น สำหรับโรคและแมลงในแปลงสับปะรดห้วยมุ่นของคุณบันแล และคุณรัตนาพรรณ ยังไม่ประสบปัญหากับโรคและแมลง เพราะมั่นใจในต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ
ต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพ เป็นต้นพันธุ์ที่อยู่ในแปลงสับปะรดของตนเอง โดยจะเลือกหน่อที่ยังไม่ให้ผล และมีขนาดหน่อพอเหมาะ ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป เมื่อสับปะรดให้ผลผลิตรุ่นแรกจะมีหน่อแตกออกมา ให้แยกหน่อนั้นเก็บไว้เป็นต้นพันธุ์ ซึ่งการเก็บต้นพันธุ์เองจะช่วยให้ลดต้นทุนลงไปได้มาก
การจำหน่ายให้กับพ่อค้าและแม่ค้าที่ตระเวนรับซื้อสับปะรด จะได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 9-14 บาท แม้ว่าสับปะรดจะเป็นพืชที่ลงปลูกในฤดูไหนก็ได้ แต่หากต้องการให้ได้ผลดี ควรเลือกลงปลูกในฤดูแล้ง เพราะจะได้ไม่ประสบกับปัญหาโรคเน่าในสับปะรด
ผู้ที่สนใจศึกษาการปลูกสับปะรดห้วยมุ่น สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณบันแล มาดีคาน และคุณรัตนาพรรณ มาดีคาน
081-7403954