ตอนที่ 1 รู้หรือไม่ ธาตุอาหารหลัก N P K จากปุ๋ย นอกจากช่วยในการเจริญเติบโตแล้วยังช่วยลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้อีกด้วย

ตอนที่ 1 ปุ๋ยอินทรีย์กับการเข้าทำลายของโรคและแมลง

วันนี้ทางแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายงานการตลาดวิจัยและพัฒนา ของบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) (หัววัว-คันไถ) ได้รวบรวมสาระความรู้ดี ๆ มาให้กับทางผู้อ่านอีกเช่นเคย โดยหัวข้อในวันนี้ ทางเราคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้อ่าน โดยจะแบ่งทั้งหมดออกเป็น 3 ตอน

เป็นที่ทราบกันดีว่า กระแสเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างมาแรง จากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยแนวคิดที่ว่า ต้องมีการปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือวัสดุอินทรีย์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ทางเกษตรกรหรือตัวผู้อ่านเองต้องคำนึงถึงปริมาณความต้องการธาตุอาหารที่เพียงพอและจำเป็นต่อการสร้างผลผลิต การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พิจารณาได้จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงแค่ 1 กระสอบ จะต้องใช้มูลสัตว์ต่าง ๆ สูงหลายเท่าตัว ยกตัวอย่าง เช่น การใช้ปุ๋ยสำหรับการปลูกพืชให้ผลผลิตตามที่ต้องการต้องใช้ปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ แต่หากต้องเปลี่ยนเป็นการใช้ปุ๋ยหมักต้องใช้มากถึง 44-70 กระสอบ (รูปที่ 1)


รูปที่ 1. ปริมาณปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ให้ได้ปริมาณธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ

 

นอกจากจะต้องคำนึงถึงการหาตลาดเฉพาะ ซึ่งยังมีค่อนข้างน้อย ยังต้องคำนึงถึงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่สูงมาก เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีอีกด้วย ทั้งต้นทุนในการผลิตและค่าแรงในการใส่ปุ๋ย

แต่ทราบหรือไม่ว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่สูงมากนอกจากจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้พืชและผลผลิตของเรา เสี่ยง ที่จะถูกโรคและแมลงเข้าทำลายได้มากขึ้นเช่นกัน วันนี้ทางเรามีตัวอย่างจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (มูลไก่) ที่ใช้กับการปลูกพริกในปริมาณที่สูง (รูปที่ 2 และรูปที่ 3) มาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาไปพร้อม ๆ กัน


รูปที่ 2. จำนวนแมลงที่เข้าทำลายพริกต่ออัตราการใส่ปุ๋ยมูลไก่ที่แตกต่างกัน

 

จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่า การที่เราใส่ปุ๋ยมูลไก่ในปริมาณหรืออัตราที่สูงขึ้นจะมีแนวโน้มทำให้พบการเข้าทำลายของแมลงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เราจะขยายความจากกราฟในรูปที่ 1 เพิ่มขึ้นไปอีก

ตัวอย่างจากรูปที่ 2 “แมลงหวี่ขาว” การใส่ปุ๋ยมูลไก่ในอัตรา 3.2 และ 6.4 ตันต่อไร่ ทำให้จำนวนแมลงหวี่ขาวมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 23.53 และ 61.22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการไม่ใส่ปุ๋ยมูลไก่ (รูปที่ 2)
แมลงหวี่ขาวตัวเต็มวัยนอกจากจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคใบด่าง ซึ่งก็สอดคล้องกับร้อยละของต้นพริกที่เป็นโรคใบด่าง โดยการใส่ปุ๋ยมูลไก่เพิ่มขึ้นในอัตรา 3.2 และ 6.4 ตัน
ต่อไร่ ทำให้ร้อยละของต้นพริกที่เป็นโรคใบด่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 47.26 และ 52.09 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการไม่ใส่ปุ๋ยมูลไก่อีกด้วย (รูปที่ 3) นอกจากแมลงหวี่ขาวแล้ว ทั้งตั๊กแตนและมวนยุงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน เมื่อใส่ปุ๋ยมูลไก่ในอัตราที่สูงขึ้น (รูปที่ 3)


รูปที่ 3. อัตราการใส่ปุ๋ยมูลไก่ที่ระดับแตกต่างกันต่อการเข้าทำลายของโรคใบด่างในต้นพริก

เป็นอย่างไรกันบ้างหลังจากที่ได้ดูข้อมูลงานวิจัยไปบางส่วนแล้ว สาเหตุนั่นก็เพราะในปุ๋ยมูลไก่
มีปริมาณไนโตรเจนค่อนข้างสูงนั่นเอง จึงเป็นแหล่งก่อโรคและแมลงมากขึ้น และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่สูงก็ยังเป็นแหล่งอาหาร รวมทั้งที่อยู่อาศัยของโรคและแมลง เช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียวในอัตราหรือปริมาณที่สูงก็ส่งเสริมให้เกิดโรคได้อีกด้วย ดังตัวอย่างตารางที่ 1 และรูปที่ 4

ตารางที่ 1 อัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนต่อโรคราสนิมและราแป้ง

หมายเหตุ : + = พบโรคเล็กน้อย; ++++ = พบโรคสูงขึ้น

 


รูปที่ 4. ระดับไนโตรเจน 4 ระดับ (ขาดแคลน เพียงพอ สูง และสูงมาก) ต่อพื้นที่รอยโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย

 

จากงานวิจัยตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่า อัตราการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับสูงขึ้นเกินจำเป็น เอื้อให้เกิดโรคราสนิมและราแป้งเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันรูปที่ 4 การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับสูงขึ้นก็ทำให้มีแนวโน้มเกิดโรคจากแบคทีเรียมากขึ้น

“เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบทความและสาระน่ารู้ในตอนต่อไป จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสในการช่วยลดการเข้าทำลายของโรคและแมลง ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในเล่มถัดไปนะครับ”

ที่มา : ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม ?
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ บางเขน
Huber D, Römheld V. and Weinmann M. Relationship between Nutrition, Plant Diseases and Pests; Marschner’s Mineral Nutrition of Higher Plants. 2012

เรียบเรียงโดย : สายงานการตลาดแผนกวิจัยและพัฒนา บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า