ผลของชนิดปุ๋ยไนโตรเจนที่แตกต่างกันต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของคะน้า

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ที่มาและความสำคัญ

ผักคะน้า (Brassica oleracea L. var. alboglabra) เป็นผักล้มลุก นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 250 ล้านบาทต่อปี (กรมวิชาการเกษตร, 2560) สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการปลูกคะน้ามากที่สุด คือ เดือนตุลาคม-เมษายนของทุกปี และมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วัน คะน้าเป็นพืชที่กินใบและลำต้น จึงต้องการธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนค่อนข้างสูง (1 ฤดูการปลูก ต้องการไนโตรเจนประมาณ 9-15 กิโลกรัมต่อไร่) (กรมวิชาการเกษตร, 2548) เนื่องจากระยะการเก็บเกี่ยวของผักคะน้าค่อนข้างสั้น การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนจึงค่อนข้างมีความจำเป็นสำหรับการผลิต

ดังนั้น ทางแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับแม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่เกษตรกรนิยมใช้ ได้แก่ ยูเรีย (46-0-0) แคลเซียมไนเทรต (15-0-0) และ แอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) เพื่อเป็นการเปรียบเทียบการเจริญเติบโต ผลผลิต และนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนารวมถึงแนะนำการใช้ปุ๋ยในการผลิตผักคะน้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

วิธีการทดลอง

ทำการปลูกโดยหว่านเมล็ดคะน้า พันธุ์ยอดไต้หวัน บางบัวทอง 35 หว่านในอัตรา 5 กรัมต่อแปลง
ให้กระจายสม่ำเสมอ แล้วคลุมด้วยฟาง รดน้ำด้วยระบบน้ำสปริงเกอร์ ช่วงเช้าและเย็น เป็นเวลา 15 นาที เมื่อคะน้ามีอายุ 15 วันหลังหว่านเมล็ด ทำการถอนแยกให้มีระยะห่างระหว่างต้นเท่ากับ 20 เซนติเมตร โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design; CRD) จำนวน 4 ตำรับ และ 4 ซ้ำ โดยมีตำรับการทดลองดังนี้

  • ตำรับที่ 1 ใส่ปุ๋ย 15-0-0
  • ตำรับที่ 2 ใส่ปุ๋ย 21-0-0
  • ตำรับที่ 3 ใส่ปุ๋ย 46-0-0
  • ตำรับที่ 4 ตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน)

แบ่งใส่ปุ๋ยจำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อคะน้าอายุ 15 วันหลังหว่านเมล็ด อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่
ครั้งที่ 2 เมื่อคะน้ามีอายุ 30 วัน อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ และครั้งที่ 3 เมื่อคะน้ามีอายุ 45 วัน อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ และมีการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในปริมาณที่เท่ากันในทุกตำรับการทดลอง ทำการเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตและผลผลิต ได้แก่ ความสูง จำนวนใบ ความเขียวใบ (โดยใช้เครื่องคลอโรฟิลล์มิเตอร์ รุ่น SPAD 50, Minolta, Japan) และปริมาณผลผลิตที่อายุการเก็บเกี่ยว 55 วัน

จำนวนใบ

ผักคะน้าที่อายุ 25 วัน พบว่า ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0
ทำให้มีจำนวนใบสูงที่สุด และต่ำที่สุดในตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 และตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) (3, 3, 2 และ 2 ใบ ตามลำดับ)

ผักคะน้าที่อายุ 35 วัน พบว่า ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ทำให้มีจำนวนใบสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และตำรับที่ใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 และมีจำนวนใบน้อยที่สุดในตำรับควบคุม
(ไม่ใส่ปุ๋ย) (5, 4, 4, และ 3 ใบ ตามลำดับ) และผักคะน้าที่ อายุ 55 วัน พบว่า ทุกตำรับการทดลองมีจำนวนใบเท่ากัน (7 ใบ) (รูปที่ 1b)


รูปที่ 1

a) การใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่แตกต่างกันต่อความสูงของผักคะน้าที่อายุ 25, 35 และ 55 วัน
b) การใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่แตกต่างกันต่อจำนวนใบของผักคะน้าที่อายุ 25, 35 และ 55 วัน

 

 

ความเขียวใบ

ผักคะน้าที่อายุ 25 วัน พบว่า ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ทำให้ความเขียวใบมีแนวโน้มสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) (45.1, 42.8, 42.6 และ 42.2 ตามลำดับ)

ผักคะน้าที่อายุ 35 วัน พบว่า ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 มีความเขียวใบสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 และต่ำที่สุดในตำรับควบคุม
(ไม่ใส่ปุ๋ย) (47.6, 43.8, 41.3 และ 31.2 ตามลำดับ)

ผักคะน้าที่อายุ 55 วัน พบว่า ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 มีความเขียวใบสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 และ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และต่ำที่สุดในตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) (57.8, 53.9, 51.0 และ 29.2 ตามลำดับ) (รูปที่ 2a)

ผลผลิต

ผักคะน้าที่อายุ 55 วัน พบว่า ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ทำให้มีผลผลิตสูงที่สุด รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 รองลงมา คือ ตำรับที่มีการใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 และต่ำที่สุดในตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) (2.41, 2.05, 1.79 และ 1.19 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ตามลำดับ) (รูปที่ 2b)


รูปที่ 2

a) การใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่แตกต่างกันต่อความเขียวของใบผักคะน้าที่อายุ 25, 35 และ 55 วัน
b) การใช้แม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่แตกต่างกันต่อปริมาณผลผลิตของผักคะน้าที่อายุการเก็บเกี่ยว 55 วัน

 

 

วิจารณ์ผลการทดลอง

การเจริญเติบโตและผลผลิต

ความสูง จำนวนใบ ความเขียว และผลผลิตของใบผักคะน้า ในช่วง 25, 35 และ 55 วัน พบว่า ผักคะน้ามีการตอบสนองต่อปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) และ แอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ค่อนข้างชัดเจนกว่าแคลเซียมไนเทรต (15-0-0) และจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้น เมื่อผักเริ่มมีอายุมากขึ้น โดยพบว่า การใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ทำให้ผักที่อายุ 55 วัน มีความสูงมากที่สุด เท่ากับ 40.4 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าในตำรับที่ใช้ปุ๋ยสูตร
21-0-0 และ ตำรับที่ใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 ประมาณ 14.1 และ 16.1 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตของผักคะน้าที่อายุการเก็บเกี่ยว 55 วัน พบว่า ตำรับที่ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ก็ทำให้ผลผลิตสูงที่สุดเช่นกัน และสูงกว่าตำรับที่ใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0, 15-0-0 และตำรับควบคุม (ไม่ใส่ปุ๋ย) ประมาณ 14.94, 25.73 และ 50.62 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เนื่องมาจากปุ๋ยสูตร 46-0-0 มีปริมาณไนโตรเจนที่ลงในดินจริงค่อนข้างสูงกว่าสูตรอื่น ๆ ในอัตราที่เท่ากัน และรองลงมา คือ 21-0-0 และ 15-0-0 ตามลำดับ (ตำรับที่ใช้ปุ๋ยสูตร 15-0-0, 46-0-0 และ 21-0-0 มีไนโตรเจนที่ลงดินทั้งฤดูการปลูกเท่ากับ 12.0, 36.8 และ 16.8 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ)
ซึ่งไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบของโปรตีน กรดอะมิโน และเอนไซม์หลายชนิด ที่ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโต ส่งเสริมคุณภาพ และผลผลิต (คณาจารณ์ภาคปฐพีวิทยา, 2548) และสอดคล้องกับผลของการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ต่อการปลูกคะน้าในชุดดินบางกอก (ไนโตรเจนที่ลงดินจากปุ๋ยสูตร 15-15-15, 46-0-0 และ 25-7-7 เท่ากับ 5.1, 20.24 และ 40 กิโลกรัมต่อไร่) พบว่า การใช้ปุ๋ยเคมีที่ให้ปริมาณไนโตรเจนที่สูงขึ้นทำให้ความสูงและปริมาณผลผลิตของผักคะน้าเพิ่มสูงขึ้น (จุฑารัตน์และคณะ, 2561)

สรุป

จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าผักคะน้าเป็นพืชที่ค่อนข้างมีความต้องการธาตุไนโตรเจนในปริมาณที่สูง และการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตราที่เท่ากันกับ 21-0-0 และ 15-0-0 จะได้ปริมาณไนโตรเจนที่สูงกว่า ช่วยให้การเจริญเติบโตและผลผลิตสูงที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงราคาของปุ๋ยยูเรียเทียบกับแม่ปุ๋ยตัวอื่น ๆ ในอัตราที่เท่ากันด้วย

ข้อเสนอแนะ

ผักคะน้าเป็นพืชกินใบที่มีอายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างเร็ว เพียงแค่ 55 วัน การใช้ปุ๋ยเคมียิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตผักคะน้าให้ได้ผลผลิตและคุณภาพตามความต้องการ และการใช้ปุ๋ยก็ต้องคำนึงถึงวันเก็บเกี่ยวเพื่อลดการตกค้างของปุ๋ยในใบและลำต้น รวมถึงการใช้ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมให้เพียงพอเช่นเดียวกัน

อ้างอิง
-กรมวิชาการเกษตร. 2548. คำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับพืชเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
-กรมวิชาการเกษตร. 2560. เอกสารรายงานสถิติการผลิตการเกษตรตามชนิดพืชเลือกตามกลุ่มผักปีเพาะปลูก 2548/2549 ทั้งประเทศ. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา.2548. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
-จุฑารัตน์ รัตนปัญญา, 2561. รายงานผลการวิจัย. ผลของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงและปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ต่อการปลูกผักคะน้าในชุดดินบางกอก. กลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเค็ม. กองวิจัยและพัฒนาการจัดการดิน กรมพัฒนาที่ดิน. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า