ปุ๋ยตราหัววัว-คันไถ จับมือบริษัทใหญ่ด้านอาหารและการเกษตร ระดมองค์ความรู้และเทคโนโลยีทำแปลงทดลองมันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 50%

บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาคุณภาพและปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยใช้เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารและการจัดการระบบแปลงเพาะปลูก โดยทั้ง 3 ฝ่าย ทำโครงการในรูปแบบแปลงทดลองกึ่งสาธิตการผลิตมันสำปะหลัง ในพื้นที่ ต.ทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

พื้นที่ดังกล่าว แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดมาก เนื่องจากเป็นเขตดินเสื่อมโทรม ปริมาณธาตุอาหารในดินต่ำมาก โครงสร้างดินไม่อุ้มน้ำ และมีปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำไม่เพียงพอ ต้องอาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตรเท่านั้น จึงส่งผลให้ที่ผ่านมา มันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์แป้งน้อย และผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2-3 ตันต่อไร่เท่านั้น


ภายหลังจากศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ทีมงานได้เริ่มลงมือเก็บตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีในดิน
จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการปรับสภาพดิน ด้วยการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ และปรับลักษณะโครงสร้างเนื้อดิน โดยเลือกใช้ขี้เถ้าแกลบที่ผ่านกระบวนการหมัก (ซุปเปอร์แอช) และเลือกใช้ปูนโดโลไมท์เพื่อลดปัญหาความเป็นกรดในดิน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแนวทางการใช้สูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับพื้นที่และลักษณะพันธุ์ของพืช โดยใช้สัดส่วนธาตุอาหาร ไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : โพแทสเซียม N:P:K เท่ากับ 3:1:2 และสัดส่วน 2:1:3 เพื่อสังเกตการตอบสนองต่อพันธุ์ และสภาพแวดล้อม รวมทั้งใช้หลักสมดุลของธาตุอาหาร โดยเพิ่มปริมาณธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมให้สมดุลกับปริมาณโพแทสเซียมในดิน ใช้ธาตุสังกะสีฉีดพ่นทางใบ เพื่อให้พืชทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน และเพิ่มศักยภาพต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต

ในส่วนของพันธุ์ มีการเลือกใช้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 15 ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 6-8 เดือน และมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง การคัดเลือกพันธุ์ ใช้ท่อนพันธุ์ดีปลอดโรค โดยใช้ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจสอบท่อนพันธุ์ปลอดเชื้อโรคใบด่าง (CMV) เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคและความเสียหายในแปลง ซึ่งเป็นปัญหาโรคระบาดหลักสำหรับมันสำปะหลังในปัจจุบัน

สำหรับการปลูก แช่ท่อนพันธุ์ก่อนการปลูกด้วยน้ำยาเร่งราก และสารป้องกันกำจัดแมลง เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของท่อนพันธุ์ เพิ่มอัตราการเจริญเติบโต รวมถึงการใช้เทคนิคระยะปลูกที่เหมาะสม ตัดท่อนพันธุ์แบบแนวตรง และฝังปุ๋ยรองพื้นในดินหลังปลูก เพื่อเพิ่มพื้นที่การเจริญเติบโต การดูดใช้ธาตุอาหาร และเพิ่มพื้นที่การสร้างหัวมันสำปะหลัง

เพื่อให้การวางแผนการเพาะปลูกและจัดการแปลงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีระบบดาวเทียมสารสนเทศ จากแอปพลิเคชัน ใบไม้-รีคัลท์ ในการติดตามสภาพอากาศ การพยากรณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 9 เดือน เพื่อใช้ในการวางแผนการปลูก การจัดการแปลง และการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ยังใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมในแอปพลิเคชัน วิเคราะห์ค่า NDVI เพื่อติดตามข้อมูลสุขภาพพืชในแปลงทุก 5 วัน

จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแนวทางการจัดการของโครงการที่อายุ 8 เดือน และ 12 เดือน พบว่า ได้ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 6,979 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนของเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 4,460 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากแนวทางเดิมของเกษตรกรถึง 57% มีคุณภาพเปอร์เซ็นต์แป้งเพิ่มขึ้น 12% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 78% โดยจะนำแนวทางดังกล่าว จัดทำโครงการขยายผลและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้นำไปประยุกต์ใช้ในแปลงของตนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า