จากการที่มีกระแสต่อต้านการใช้สารเคมี และดูเหมือนว่าในบรรดาสารเคมีที่ใช้ในวงการเกษตรนั้น ปุ๋ยเคมีได้รับการต่อต้านมากที่สุด ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้เลิกใช้ ทั้งที่ปุ๋ยเคมีไม่ได้ถูกจัดเป็นสารพิษ ปุ๋ยเคมีเป็นเพียงสารประกอบเกลืออย่างหนึ่ง ซึ่งในธรรมชาติ ในดิน หรือในน้ำ มีเกลือชนิดต่างๆ ปะปนอยู่เสมอ มีการกล่าวโทษปุ๋ยเคมีหลายประการที่เห็นบ่อยๆ เช่น ปุ๋ยเคมีทำให้ดินแน่นและแข็ง แต่ข้อเท็จจริงจากผลงานวิจัยแสดงว่าปุ๋ยเคมีทำให้ดินโปร่งขึ้นและแข็งน้อยลง หากเทียบกับดินที่ไม่ใช้ปุ๋ยอะไรเลย และหากไถกลบตอซังพืชแทนการเผา หรือเคลื่อนย้ายตอซังออกไป ผลดีของปุ๋ยเคมีดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น คำกล่าวที่ร้ายแรงอีกประการหนึ่งคือ ปุ๋ยเคมีทำให้เกษตรกรขาดทุนเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้ขอเรียนชี้แจงว่าเกิดจากการใช้ปุ๋ยที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกร หรือเป็นเพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชไม่เหมาะสม ปุ๋ยเคมีเป็นเพียงตัวเพิ่มเติมธาตุอาหารให้แก่ดิน ซึ่งดินแต่ละแห่งก็มีธาตุอาหารมากน้อยต่างกัน และพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารแต่ละธาตุในปริมาณที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น ถ้าเลือกใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้องกับคุณสมบัติของดินแต่ละแห่งและพืชแต่ละชนิด ปุ๋ยเคมีก็จะไม่ช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ
ประเทศไทยจัดเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก โดยมีรายได้จากการส่งออกจากภาคเกษตรกรรมทั้งพืชและสัตว์ ด้วยศักยภาพการส่งออกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของพืชเกษตรนั้น ทราบกันดีว่าพืชต่างๆ ที่ปลูกอยู่บนพื้นดินจะดึงดูดธาตุอาหารออกไปจากดิน และเมื่อส่งออกผลผลิตของพืชไปจำหน่ายต่างประเทศ ก็เป็นการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารไปด้วย ทำให้ธาตุอาหารในดินสูญเสียไปนับหมื่นนับแสนตันต่อปี เป็นผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงไปเรื่อยๆ หากไม่มีการดูแลและบำรุงดินอย่างถูกต้องและ “ปุ๋ย” เป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา “ปุ๋ย” มีสามประเภท คือ
ปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) คือ ปุ๋ยหมักที่ได้จากการใช้จุลินทรีย์ และกรรมวิธีต่างๆ ในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ รวมทั้งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยชีวภาพ (bio fertilizer) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารมากขึ้น
ปุ๋ยเคมี (chemical fertilizer) หรือ ปุ๋ยแร่ธาตุ (mineral fertilizer) คือ ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์ อินทรีย์สังเคราะห์ หรือจากแหล่งแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่
ปุ๋ยเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยการผลิตที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับพืช กรณีการใช้ในปริมาณที่เท่ากันระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ จะพบว่าปุ๋ยเคมีให้ผลผลิตมากที่สุด และเมื่อต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตเท่ากับปุ๋ยเคมีก็จะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นจำนวน 8-70 เท่าของปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1
ปุ๋ยเคมี เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มเติมธาตุอาหารให้แก่ดินที่ใช้เพาะปลูกพืช ประเทศที่ก้าวหน้าทางเกษตรกรรมจะใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มเติมธาตุอาหารให้แก่ดิน ทำให้ได้ผลผลิตสูง สำหรับบางประเทศที่พื้นดินเป็นทะเลทรายใช้ปุ๋ยเคมีเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชที่ปลูกบนทราย จนได้ผลผลิตที่ไม่น้อยไปกว่าประเทศที่มีดินที่อุดมสมบูรณ์ ปุ๋ยเคมีที่ใช้ภายในประเทศประมาณ 90% เป็นปุ๋ยเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในหลายปีที่ผ่านมาปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีมากหรือน้อยเป็นไปตามภาวะตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ปุ๋ยเคมีภายในประเทศ คือ ราคาผลผลิตและนโยบายด้านการเกษตรของภาครัฐ ในส่วนของราคาวัตถุดิบจากต่างประเทศก็เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการใช้ปุ๋ยเคมีภายในประเทศ เพราะประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น
ปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen) การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนจะมีสารตั้งต้นคือ สารแอมโมเนียที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ทำปฎิกิริยากับไฮโดรเจนซึ่งส่วนใหญ่ได้จากก๊าซธรรมชาติในกระบวนการปิโตรเคมี หรือกระบวนการผลิตถ่านหิน สารแอมโมเนียนั้นใช้ในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนต่างๆ ได้แก่ ยูเรีย (46-0-0) และแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ซึ่งราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน กล่าวคือ ในอดีตเมื่อน้ำมันราคาแพง ก๊าซธรรมชาติก็จะมีราคาแพงด้วย เพราะเมื่อน้ำมันมีระดับราคาที่สูงขึ้น คนก็หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติทำให้ปุ๋ยไนโตรเจนมีราคาสูงขึ้น ในทางตรงข้ามเมื่อราคาน้ำมันถูกลง ปุ๋ยไนโตรเจนก็จะมีราคาถูกลง
ปุ๋ยฟอสฟอรัส (Phosphorus) ทำมาจากหินฟอสเฟต วิธีการผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัสที่นิยมกันก็คือ นำหินฟอสเฟตมาบดละเอียดและทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถัน ก็จะได้กรดฟอสฟอริค ซึ่งถือเป็นตัวต้นน้ำของปุ๋ยฟอสฟอรัส แต่กรดฟอสฟอริคเป็นของเหลว ซึ่งยากต่อการใช้ การเก็บรักษา และการขนส่ง จึงได้นำกรดฟอสฟอริคไปทำปฏิกิริยากับแอมโมเนีย กลายเป็นแม่ปุ๋ย DAP (Diammonium Phosphate) สูตร 18-46-0 แม่ปุ๋ย MAP (Monoammonium Phosphate) สูตร 11-52-0 หรือใช้กระบวนการผลิตเดียวกันนี้ผลิตเป็นปุ๋ย N-P-K สูตรต่างๆ สำหรับปุ๋ยฟอสฟอรัสนั้น กรณีที่หินฟอสเฟตแพง ปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วย และถ้ากรดกำมะถัน (sulfuric acid) แพง ปุ๋ยฟอสฟอรัสก็จะแพงด้วยเช่นกัน
ปุ๋ยโพแทสเซียม (Potassium) เป็นแร่ที่ขุดจากดินได้โดยตรงที่เรียกกันว่า แร่โพแทช ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชขนาดใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดอุดรธานี หากโครงการพัฒนาเหมืองดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ก็จะได้แม่ปุ๋ยโพแทสเซียมใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าปีละประมาณ 500,000-700,000 ตันต่อปี
ในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามที่จะพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรให้เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น ภาครัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นที่หนึ่งในโลก โดยตั้งเป้าสู่การเป็นครัวของโลก และเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับในประเทศต่างๆ แต่สิ่งที่จะรองรับนโยบายดังกล่าว คือ ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อปรับแต่งพืชผลตามที่ต้องการ เช่น เร่งการเจริญเติบโตของใบและต้น เร่งการออกดอกออกผล เพิ่มขนาดและคุณภาพผลผลิต ซึ่งส่วนนี้ “ปุ๋ยเคมี” ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและเหมาะสมมากปัจจัยหนึ่ง อีกทั้งเพื่อที่จะให้บรรลุถึงจุดประสงค์ดังกล่าว ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบน้ำชลประทานให้กระจายทั่วภูมิภาคของประเทศ เพื่อที่จะได้สนับสนุนต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชให้ได้มากขึ้น รวมทั้งต้องพัฒนาพันธุ์พืช และการจัดการดูแลรักษา
หากเปรียบเทียบผลผลิตพืชผลภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะผลผลิตข้าวต่อไร่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ประเทศไทยมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ดังตารางที่ 2
จากตาราง เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตข้าวต่อไร่จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกจำนวนมากหรือเป็นการเพิ่มผลผลิตจากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งนับวันพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพต่ำ ในขณะที่มีต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลให้เกษตรกรยากจน และมีหนี้สินจำนวนมาก
การเพิ่มผลผลิตพืชให้มีปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศควรพิจารณาปัจจัยการผลิตต่างๆ ซึ่งปุ๋ยเคมีเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่สามารถเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพให้กับพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพควรใส่ปุ๋ยให้ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี และต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร การวิเคราะห์ดิน-พืช ซึ่งเป็นมาตรการที่จะต้องนำมาใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการเพาะปลูกพืช เช่น GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และเหมาะสมสำหรับพืช (Good Agricultural Practice) เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวต่อการบริโภคพืช อาหารทางการเกษตรที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกสินค้าการเกษตรไปยังต่างประเทศเริ่มมีการกำหนดมาตรฐานการส่งออกหรือต้องผ่านมาตรฐานการรับรองในระดับสากล ทั้งนี้ เกิดขึ้นจากปัญหาหลายๆ ด้านความไม่ปลอดภัยของสินค้าเกษตร เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีและจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษอะฟลาท็อกซินที่เกิดจากเชื้อรา สารฟอกขาว สารกันบูด รวมทั้งสารเคมีตกค้างที่ใช้ในภาคเกษตรกรรม ปัญหาที่เกิดจากการทำการเกษตรที่ขาดทักษะ ขาดความรู้ความเข้าใจทางวิชาการที่ถูกต้อง ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยส่งผลให้สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ มีราคาต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรได้
ในปัจจุบันแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมสำหรับพืช หรือเกษตรปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) จึงเป็นหลักแนวทางปฏิบัติที่ดีในการช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ดังนั้น เกษตรกรไทยต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะสมต่อการบริโภค และการส่งออก อีกทั้งเกษตรกรก็จะมีสุขภาพที่ดี สามารถรักษาสภาพแวดล้อมทางการเกษตร และเกิดระบบการผลิตสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมกันส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจการทำการเกษตรปลอดภัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้เกษตรกรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรควบคู่ไปกับการนำประเทศสู่ความสำเร็จทางการเกษตรในอนาคต ตลอดจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นครัวของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ