ปัจจุบันแรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวนลดลง และค่าแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจการสวนผลไม้ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก คิดเป็นต้นทุนแรงงานไม่ต่ำกว่า 30%ของต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิต หากสวนไหนมีต้นไม้อายุมาก ลำต้นสูง จำเป็นต้องใช้บันไดหรือทำนั่งร้านในการห่อผลไม้ป้องกันแมลงวันผลไม้ หากปีไหนผลไม้ล้นตลาดขายได้ราคาถูก หากต้องจ้างค่าแรงแพงให้คนมาเก็บผลไม้ก็ไม่คุ้มกับการลงทุน
ลุงแกะ หรือนายถาวร ค้ำคูณ เจ้าของสวนกระท้อนป้าทองสุขในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี หมั่นศึกษา หาความรู้ ประเมินศักยภาพของครอบครัว พบว่าตนเองมีศักยภาพในการทำสวนกระท้อน และเลี้ยงโคนมได้ดีที่สุด แต่มีปัญหาเรื่องแรงงานจึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงโคนม และหันมาทำสวนกระท้อนอย่างเดียวพร้อมคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการดูแลและบำรุงผลกระท้อนให้เป็นที่ต้องการของตลาด
ลุงแกะเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่หมั่นศึกษาเรียนรู้ หาความรู้ต่างๆทางอินเตอร์เน็ต จึงสนใจนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มกลายเป็นเรื่องง่าย สามารถลดต้นทุนเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเกษตรยุคใหม่ (Smart Farmer)
ปัจจุบันสวนกระท้อนของลุงแกะเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในจังหวัดลพบุรีที่ลงทุนซื้อรถกระเช้าจากประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการห่อผลกระท้อนที่อยู่สูงแทนการใช้บันได รถกระเช้ามีโครงสร้างขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก สามารถขับเข้าไปในพื้นที่แคบอย่างเช่น ระยะห่างระหว่างต้นไม้แต่ละต้นได้ดี ช่วยประหยัดค่าแรงงานในการห่อและเก็บผลไม้รวมทั้งตัดกิ่งไม้ในที่สูงได้ง่ายไม่ต้องใช้คนจำนวนมากนับเป็นนวัตกรรมการเกษตร ที่ตอบโจทย์เทคโนโลยีความแม่นยำและช่วยให้เกษตรกรทำงานได้อย่างสัมฤทธิ์ผล รวดเร็วทันใจสมกับคำว่า เกษตร 4.0
สวนกระท้อนเนื้อที่ 16 ไร่ ของลุงแกะปลูกกระท้อนหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ปุยฝ้าย พันธุ์อีล่า พันธุ์ทับทิมและพันธุ์นิ่มนวล จำนวน 260 ต้น ซึ่งต้นกระท้อนที่ปลูกรุ่นแรกมีอายุมากถึง 35 ปี ขนาดลำต้นสูงใหญ่ แต่ผลผลิตด้อยคุณภาพ ลุงแกะจึงใช้วิธีตัดแต่งทรงพุ่มใหม่เรียกว่า“ทำสาวกระท้อน” โดยประยุกต์ใช้ดูซินคอย (สารพ่นเคลือบใต้รถยนต์ป้องกันสนิม) ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาทาแผลต้นกระท้อนทันทีหลังการตัดแต่งกิ่งกระท้อน เพื่อควบคุมโรคพืชไม่ให้เข้ามาทำลายต้นไม้ ส่วนเศษใบและกิ่งเล็กหลังการแต่งกิ่งทำสาว จะนำมาคลุมใต้โคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นภายในสวน สำหรับกิ่งไม้ขนาดใหญ่จะนำมาเป็นฟืนใช้ภายในครอบครัว หากเหลือจากใช้ก็รวบรวมขาย เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
เนื่องจาก “ดินเป็นหัวใจสำคัญ” ของการทำการเกษตรลุงแกะจึงใส่ใจบำรุงดินโดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อบำรุงธาตุอาหารในดินให้ตรงตามความต้องการของต้นกระท้อน และผลิตปุ๋ยหมักขึ้นเอง เพื่อลดต้นทุนและใช้วัสดุดิบสมุนไพรธรรมชาติภายในสวนแทนการใช้สารเคมีเช่น ใช้กล้วยสุกทำน้ำหมักฮอร์โมนสำหรับปรับปรุงดิน คิดค้นสูตรสารฝาด สารขับไล่แมลง สารบำรุงต้น บำรุงใบ และบำรุงดิน เป็นต้น
ลุงแกะแก้ปัญหาเรื่องการขาดความชุ่มชื้นภายในสวนกระท้อน ด้วยการติดระบบสปริงเกอร์ใต้โคนต้นทุกต้น และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เรื่อง “คลองไส้ไก่” มาบริหารจัดการภายในสวนเพื่อระบายน้ำให้กระจายรอบพื้นที่สวน เกิดความชุ่มชื้นลดพลังงานในการรดน้ำในฤดูแล้ง ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังภายในสวนกระท้อนในช่วงฤดูฝนไปพร้อมๆ กัน
ขณะเดียวกัน ลุงแกะได้นำเทคโนโลยี “การฝังระบบท่อน้ำใต้ดิน” มาใช้ควบคุมการเปิด-ปิดระบบให้น้ำภายในสวนโดยแบ่งโซนการเปิด-ปิด ออกเป็น 11 โซน สามารถประหยัดเวลาและแรงงานในการรดน้ำพืชได้อย่างดี ลุงแกะวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า เมื่อเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างต้นกระท้อนที่ตายหรือโตช้า ทำให้เหลือพื้นที่ว่างภายในสวน ลุงแกะจึงประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อง“การปลูกพืชแซม” มาจัดการพื้นที่เพื่อลดปัญหาวัชพืชภายในสวน เช่น ปลูกต้นมะปราง ข่า มะยงชิด ฝรั่ง เป็นต้น
ผู้ที่สนใจศึกษาการปลูกกระท้อน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
คุณถาวร ค้ำคูณ เจ้าของสวนกระท้อนป้าทองสุข
หมู่ที่ 13 ตำบลตะลุง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
089-0089207
สํานักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ถนนนารายณ์มหาราช อําเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
036 – 421191