ทำไมใส่ปุ๋ยเคมีเยอะแต่ผลผลิตไม่เพิ่ม?

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

พืชและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการธาตุอาหารเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ธาตุอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิตของพืช โดยธาตุอาหารพืชในดินแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามปริมาณและความต้องการของพืช คือ ธาตุอาหารหลัก เป็นธาตุที่มีความสำคัญ ที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ประกอบด้วย ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าธาตุอาหารหลัก ประกอบด้วย แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) และ ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ เป็นธาตุที่พืชต้องการใช้ในปริมาณน้อย ประกอบด้วย เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) คลอรีน (Cl) และนิกเกิล (Ni)


ภาพที่ 1 ธาตุอาหารพืช

ความต้องการของธาตุอาหารแตกต่างกันไปตามชนิดและระยะการเจริญเติบโตของพืช หากพืชได้รับธาตุอาหารเพียงพอตามความต้องการพื้นฐาน พืชจะสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ตามปกติ แต่เมื่อปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นบางธาตุลดลงจนใกล้ถึงระดับวิกฤติ ธาตุอาหารดังกล่าวจะเป็นตัวจำกัดการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช ลีบิก นักพฤกษศาสตร์และสรีระวิทยาพบว่า ผลผลิตของพืชไม่ได้ถูกจำกัดด้วยธาตุอาหารที่มีปริมาณมากในดิน แต่ถูกจำกัดด้วยธาตุอาหารที่มีปริมาณน้อยในดิน หรือที่เรียกว่า “กฏปริมาณต่ำสุด (Law of The Minimum)” โดยสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการเปรียบเทียบกับถังไม้ (ภาพที่ 2) โดยความสั้นยาวของซี่ไม้หมายถึงปริมาณธาตุอาหารแต่ละธาตุที่มีอยู่ในดิน ซี่ของไม้ที่สั้นที่สุดเปรียบเหมือนปริมาณธาตุอาหารในดินที่มีอยู่น้อยที่สุด ส่งผลให้ผลผลิตที่บรรจุอยู่ภายในถังไม้เสียหายหรือรั่วไหลออกมา ดังนั้นธาตุอาหารดังกล่าวจึงเป็นตัวจำกัดการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช


ภาพที่ 2 กฏปริมาณต่ำสุดของไลบิก

ยกตัวอย่างเช่น หากการจัดการธาตุอาหารในพื้นที่ มีแนวทางการใส่ปุ๋ยสูตรที่มีไนโตรเจน (ปุ๋ยตัวหน้า) และฟอสฟอรัส (ปุ๋ยตัวกลาง) สูง แต่ในดินมีปริมาณโพแทสเซียมอยู่น้อย หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ดังนั้นหากมีการใส่ปุ๋ยสูตรเดิมที่มีไนโตรเจนหรือฟอสฟอรัสสูงแต่ใส่ในอัตราที่สูงขึ้น พืชก็ยังไม่สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากโพแทสเซียมที่มีอยู่น้อยในดินเป็นธาตุอาหารที่จำกัดผลผลิตของพืช ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม (ปุ๋ยตัวท้าย) ให้มากขึ้นกว่าเดิมที่เคยใส่ เพื่อป้องกันไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต หรือผลผลิตเสียหายจากการขาดธาตุโพแทสเซียม นอกจากนี้การใส่ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรคำนึงถึงหลักการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ดังนี้ ถูกสูตร ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบถ้วนตามชนิดและความต้องการของพืช ถูกเวลา ควรใส่ปุ๋ยให้ตรงตามระยะการเจริญเติบโตของพืช เช่น ระยะการเจริญเติบโตทางต้นและใบ ระยะสะสมอาหาร และระยะเพิ่มคุณภาพผลผลิต ถูกอัตรา ใช้ปริมาณปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสมหากใส่ปุ๋ยในปริมาณมากเกินไปอาจะส่งผลให้เป็นพิษต่อพืช หริอหากใส่ในปริมาณน้อยเกินไปอาจเพียงพอต่อความต้องการพืช และถูกวิธี ควรฝังกลบปุ๋ยเพื่อกันการสูญเสียธาตุอาหารพืช


ภาพที่ 3 หลักการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า