ตอนที่ 3 ปุ๋ยโพแทสเซียมกับการเข้าทำลายของโรคและแมลง
สำหรับตอนที่ 3 นี้ ทางแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา ของบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) (ปุ๋ยตราหัววัว-คันไถ) ก็ได้ดำเนินกันมาจนถึงตอนสุดท้ายของเรื่อง “ธาตุอาหารหลักกับการช่วยลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงในพืช” ธาตุอาหารหลักตัวสุดท้ายนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ตัวอื่น ๆ นั่นก็คือ โพแทสเซียม ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต น้ำหนัก และความแข็งแรง ทนทานต่อโรคต่าง ๆ เรามาพิจารณาในส่วนของผลงานวิจัยไปพร้อม ๆ กันเลย จากการทดลอง ผลของการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมในอัตราที่แตกต่างกันต่อการเข้าทำลายของแมลงวันเจาะลำต้นถั่วเหลือง พบว่า การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นที่อัตรา 25, 50 และ 75 กิโลกรัมของโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) ต่อไร่ มีแนวโน้มทำให้ร้อยละของแมลงวันเจาะลำต้นลดลงมากถึง 71.94, 79.13 และ ลดลง 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการไม่ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 อัตราการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมที่แตกต่างกัน (K = K2O) ต่อการเข้าทำลายของแมลงวันเจาะลำต้น
ทีนี้เราลองมาดูโรคในข้าวกันบ้างนะครับ สำหรับข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเรานั้นมักจะพบโรคที่เจอกันได้บ่อย ๆ ในแปลง เช่น โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคกาบใบแห้ง โรคไหม้ และเมล็ดด่าง เป็นต้น จากงานผลการทดลองการใส่ปุ๋ยในอัตราต่าง ๆ ต่อการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว พบว่า การที่เราใส่ปุ๋ยตัวท้าย (โพแทสเซียม) สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าวได้ จากเดิมไม่มีการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม ข้าวเป็นโรคประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมีการใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมในอัตรา 12 กิโลกรัมต่อไร่ พบว่า ข้าวมีความแข็งแรงขึ้นมีร้อยละการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
(รูปที่ 2)
รูปที่ 2 ปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมต่อร้อยละการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว
และอีกหนึ่งตัวอย่างงานทดลอง การใช้ปุ๋ยในอัตราที่แตกต่างกันต่อโรคกาบใบแห้งในข้าว พบว่า การใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมในอัตราที่สูงขึ้นทำให้พืชมีความแข็งแรงและทนทานต่อโรคกาบใบแห้งเพิ่มขึ้น และที่ได้ผลดีที่สุด คือ การใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมในอัตรา 39.52 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ลดการเกิดโรคกาบใบแห้งในข้าวได้มากถึง 31.7 เปอร์เซ็นต์ (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 ปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมต่อร้อยละการเกิดโรคกาบใบแห้งในข้าว
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ บทบาทที่สำคัญทางด้านการป้องกันโรคและแมลงของปุ๋ยตัวท้ายหรือโพแทสเซียม จากบทความทั้งหมด 3 ตอน ไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ทั้ง 3 ธาตุเป็นธาตุที่จำเป็นในการเพิ่มผลผลิตของพืชทั้งสิ้น โดยในตอนที่ 1 เรื่อง “ปุ๋ยอินทรีย์กับการเข้าทำลายของโรคและแมลง” จะเป็นตอนของไนโตรเจนซึ่งหากใช้ในปริมาณที่สูง ไม่ว่าจะเป็นในรูปปุ๋ยอินทรีย์หรือเคมี ก็จะเป็นอาหารชั้นดีให้แก่โรคและแมลงเข้ามาทำลาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้อย่างเหมาะสมและใช้ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง สำหรับตอนที่ 2 และ 3 “ปุ๋ยฟอสฟอรัสกับการเข้าทำลายของโรคและแมลง และปุ๋ยโพแทสเซียมกับการเข้าทำลายของโรคและแมลง” แสดงให้เห็นว่า การใช้ปุ๋ยที่มีปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมทำให้พืชมีความแข็งแรงและลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้ในระดับหนึ่ง
ดังนั้น หากเราใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของโรคและแมลง ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารตัวอื่น ๆ เช่น ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เมื่อพืชได้รับธาตุอาหารหลักอย่างครบถ้วน พืชก็จะมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะต่อสู้กับโรคและแมลงเหล่านั้นได้เช่นกันแต่ต้องไม่ลืมฉีดยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืชด้วยนะครับ เพื่อผลผลิตที่เต็มประสิทธิภาพของพวกเรา
สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับความรู้และแนวคิดที่น่าสนใจสำหรับทั้ง 3 ตอนที่ผ่านมา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรโดยไม่ยึดติดกับทางใดทางหนึ่งที่สุดโต่งเกินไป และควรหาจุดคุ้มทุนให้ได้กำไรอย่างแท้จริง
โรคยอดฮิตในข้าว
รูปที่ 4 โรคใบไหม้ และ โรคใบจุดสีน้ำตาลในข้าว (กรมการข้าว; http://www.ricethailand.go.th/)
ที่มา : ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม ?
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ บางเขน
องค์ความรู้เรื่องข้าว. โรคข้าว และการป้องกันกำจัด. กองวิจัยและพัฒนา กรมการข้าว.
(สืบค้นเมื่อ 25/08/64 : http://www.ricethailand.go.th/)
Perrenound S., (1990). Potassium and Plant Health. 2nd completely revised edition. IPI Research Topics NO.3. International Potash Institute Bern/Switzerland
เรียบเรียงและดัดแปลง : แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)