หากพูดถึงการพัฒนาด้านการเกษตรให้ยั่งยืนเขาว่ากันว่า สิ่งที่จะทำให้การเกษตรพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น Agritech คือคำตอบสำคัญที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการเพาะปลูกให้สามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งทำให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก แรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้นกว่าการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และนอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงในแง่ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนลดลงอีกด้วย
คุณณัฐวุฒิ จันทร์เรือง หรือคุณณัฐ อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 2 ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง อดีตวิศวกรเคมี ผันตัวเป็นเกษตรกรสืบทอดมรดกสวนผลไม้จากพ่อแม่ ใช้เทคโนโลยี IoT เข้ามาพัฒนาสวน ช่วยลดต้น เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้เข้าสวนได้เป็นอย่างดี
ใช้เทคโนโลยี IoT จัดการสวน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพคุณณัฐวุฒิเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ตัดสินใจกลับมาทำสวนที่บ้านอย่างเต็มตัวนั้น ตนเริ่มต้นพัฒนาสวนจากสิ่งที่ตนเองถนัดก่อน ด้วยการนำเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนรุ่นเก่ามาบริหารจัดการสวนไม้ผลกว่า 50 ไร่ ให้ง่ายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในด้านเทคโนโลยีที่สวนมีการนำเอาเทคโนโลยี IoT หรือ (Internet of Things) มาใช้และมีการเขียนโปรแกรมควบคุมมอนิเตอร์ค่าต่างๆ ภายในสวน เพื่อให้รู้ทิศทางจัดการสวนว่าควรจะไปในทิศทางไหน ยกตัวอย่าง
1. มีการนำเทคโนโลยีการเปิด-ปิดน้ำ ผ่านสมาร์ทโฟน
จากเมื่อก่อนที่การรดน้ำจะต้องใช้คนงานเยอะ เพราะจำเป็นต้องมีแรงงานประจำตามจุดต่างๆ คอยรดน้ำ แต่พอมีระบบนี้
ก็สามารถลดจำนวนคนลงได้ 1-2 คน เมื่อลดจำนวนได้ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานไปได้อย่างน้อยเดือนละ 20,000 บาท
1 ปี สามารถลดต้นทุนค่าแรงงานได้กว่าแสนบาท
2.มีการวัดอุณหภูมิความชื้นในดิน และความชื้นสัมพัทธ์
ช่วยในเรื่องของการติดดอกของทุเรียน เนื่องจากถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูง ก็มีโอกาสที่ทุเรียนจะออกใบอ่อนเยอะกว่า แต่ถ้าเกษตรกรสามารถรู้ล่วงหน้าได้ก็จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
3.มีการวัดระดับปริมาณน้ำคงเหลือในสระ ทิศทางลม ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน
ใช้แอปพลิเคชันดูสภาพอากาศในการทำสวน (windy rain viewer) ซึ่งความเร็วลมก็จะมีค่าบอกว่าในตอนนี้ลมมาทิศทางไหน
ลมเป็นลมหนาวหรือเปล่า เหมาะที่จะทำดอกทุเรียนหรือไม่ หรือว่าความเร็วลมประมาณนี้ควรที่จะป้องกันอย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่างการปลูกทุเรียนกับการนำเทคโนโลยีมาใช้
คุณณัฐยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลทุเรียนในสวนให้ฟังว่า ช่วงที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในสวนคือช่วงที่ต้นทุเรียนให้ผลผลิตแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะอยู่ในช่วงของการดูแลรักษา สิ่งที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็จะเป็นการวัดค่าและประเมินผลมาเก็บมาไว้ใช้เป็นข้อมูลในการทำผลผลิตครั้งต่อไป เช่น การวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม ที่ช่วยทำให้ผลผลิตได้ปริมาณมากขึ้น และคุณภาพดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ ที่เคยทำมา
เมื่อก่อนตอนยังไม่มีการวัดความชื้นของดิน วัดปริมาณของน้ำ ก็ใช้น้ำไปจำนวนมาก แต่พอได้มีการเก็บข้อมูลก็ช่วยลดการใช้น้ำได้ แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ มากกว่า 20-30% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้ได้ผลผลิตดีจริงๆ และเราสามารถดูในจอข้อมูลแสดงผลที่เก็บข้อมูลไว้ได้เลยว่าตอนนี้ลมหนาวกำลังมาหรือว่าลมที่เหมาะในการทำดอกกำลังมา ซึ่งเมื่อก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ ชาวสวนก็จะกะช่วงเวลากันเอง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน แต่ในตอนนี้เมื่อมีข้อมูลที่แม่นยำก็สามารถทำได้ก่อน บางทีก็ไม่ต้องทำสารทุเรียนเลย มันก็จะได้ดอกก่อน ได้ผลผลิตออกมาเร็ว ได้ราคาที่ดีกว่า ปริมาณก็มากขึ้นกว่าเดิม และในด้านคุณภาพก็ได้มากขึ้น คือพูเต็ม เพราะน้ำถึง ผลผลิตไม่เสียทรง น้ำหนักได้ตามเกณฑ์มาตรฐานส่งออก
“ทำเกษตรอย่างสมาร์ท” ตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่
ด้วยรูปแบบการทำสวนของผม ที่ไม่ได้ทำรูปแบบเดิมที่พ่อแม่ทำกันมา เราทำเกษตรแบบคนสมัยใหม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มันก็ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และแม่นยำมากขึ้น สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ล่วงหน้า ว่าจะออกตอนไหน และปริมาณเท่าไหร่ และสามารถกำหนดราคาเองได้ โดยที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากเหมือนแต่ก่อน ซึ่งหลังจากที่ได้กลับมาทำประมาณ 4 ปี ก็ยังนับว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยยังคงต้องสะสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาต่อยอดสวนไปอีกเรื่อยๆ และยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของอาชีพเกษตรกรว่าเป็นอาชีพที่สุดยอด เพราะจะทำอาชีพนี้ให้สำเร็จได้ไม่ง่าย และต้องผสมรวมทุกศาสตร์ไว้ในอาชีพนี้เลย ทั้ง ชีวะ (โครงสร้างพืช โรคพืช) เคมี (ปุ๋ยยา ธาตุอาหารพืช) คณิต เศรษฐศาสตร์ (การคำนวณต่างๆ ต้นทุน บัญชี ค้าขาย) วิศวกรรม (ไฟฟ้า มอเตอร์ปั๊มน้ำ เครื่องจักรกล) แม้กระทั่งปลูกสมุนไพรรักษาโรค และอยากให้อาชีพนี้เป็นอาชีพหนึ่งที่คนพูดว่าอยากทำ นอกจาก หมอ วิศวะ และจะเป็นอย่างนั้นได้ ไม่ต้องเหนื่อยเหมือนคนรุ่นก่อน แต่นำเทคนิคภูมิปัญญาที่คนรุ่นก่อนมีมาผสมกับเทคโนโลยีในคนรุ่นใหม่ ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่เจ๋งกว่าเดิม และยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วย เพราะฉะนั้นแรงงานรุ่นใหม่ในภาคการเกษตรยังน้อยอยู่ การที่คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง