จะดีอย่างไร? หากใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรยังคงจำเป็นและมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิตพืชต่อไร่ให้สูงขึ้น แม้ว่าจะมีการใช้ปุ๋ยเคมีกันอย่างกว้างขวาง แต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หากใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารน้อยกว่าความต้องการของพืชก็จะทำให้พืชเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น ให้ผลผลิตต่ำ หากใส่มากเกินไปหรือใส่ไม่ตรงตามความต้องการของพืช อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ความต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช และสภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศร้อนจัด หนาวจัด ลมแรง โรคแมลงระบาด พืชขาดภูมิต้านทาน ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงได้ง่าย จนกระทบต่อการให้ผลผลิตของพืช

การวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืชหรือก่อนใช้ปุ๋ยจึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากส่วนใหญ่ใส่ตามชนิดและอัตราที่เคยใส่ ทำให้บางทีสูญเสียต้นทุนเกินพอดีและเปล่าประโยชน์ ดังนั้นการวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืชเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนการใช้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด และยังเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงและบำรุงดิน
ขณะเดียวกันการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใส่ปุ๋ยเฉพาะพื้นที่ ให้ตรงกับความต้องการปริมาณธาตุอาหารของพืช หากเรานำดินมาวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน (N) โพแทสเซียม (K) และฟอสฟอรัส (P) ที่เป็นธาตุอาหารหลักของพืชแล้ว จะทำให้เราสามารถใช้ปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงดินในปริมาณที่เหมาะสม โดยกำหนดอัตรา วิธีการใส่ และใช้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น ตรงตามความต้องการของพืช เป็นการประหยัดปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิตนั่นเอง

ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินและการส่งวิเคราะห์ดิน

1. การเก็บตัวอย่างดิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากตัวอย่างดินที่เก็บจะเป็นตัวแทนของพื้นที่ทั้งหมด จึงควรทำการแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อยที่มีขอบเขตชัดเจนโดยภายในแปลงย่อยเดียวกันควรมีความแตกต่างกันน้อยที่สุด กรณีพืชไร่ควรสุ่มเก็บตัวอย่างดินอย่างน้อย 15-20 จุด (พื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่) เก็บดินที่ความลึก 15 เซนติเมตร กรณีไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้ทำการเก็บตัวอย่างดินจาก 6-8 ต้น ในรัศมีทรงพุ่มทั้ง 4 ทิศ ต้นละ 4 จุด (พื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่) ให้เก็บที่ความลึก 30 เซนติเมตร จากนั้นทำการแซะดินด้านหนึ่งของหลุมตั้งแต่ผิวดินถึงก้นหลุม ให้เป็นแผ่นหนา 2-3 เซนติเมตร จนถึงก้นหลุม ดินที่ได้เก็บรวบรวมใส่ถุง หรือถังพลาสติก คลุกเคล้าดินให้เข้ากัน แบ่งตัวอย่างดินเป็น 4 ส่วน เก็บตัวอย่างดินไว้เพียง 1 ส่วน ให้ได้น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม
2. การส่งวิเคราะห์ดิน ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีมาตรฐานเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องและความแม่นยำมากที่สุด หรือสามารถวิเคราะห์ดินโดยใช้ชุดตรวจสอบภาคสนาม (Test Kit) ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว สามารถทราบผลวิเคราะห์ได้ทันที เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง ผลวิเคราะห์ที่ได้เป็นค่าโดยประมาณเท่านั้น
3. การแปลความหมายค่าวิเคราะห์ดิน และการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยหรือการปรับปรุงดิน เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานในแต่ละรายการวิเคราะห์แล้วทำการแปลข้อมูลวิเคราะห์ที่ได้ว่าอยู่ในระดับต่ำ ปานกลาง หรือสูง ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ามีเพียงพอหรือขาดแคลน และจะสามารถให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับพืชแต่ละชนิด รวมถึงการจัดการและปรับปรุงดินที่คุ้มค่ากับการลงทุน

ข้อดีของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

  • สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการจัดการธาตุอาหารและการปรับปรุงดินในการเพาะปลูก
  • การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถใส่ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืช ถูกสูตร และถูกอัตรา เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิตพืช
  • ช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เนื่องจากการวิเคราะห์ดินทำให้ทราบถึงความต้องการที่เพียงพอ ทำให้สามารถวางแผนการใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกได้ จึงควรให้ความสนใจการศึกษาข้อมูลดินในพื้นที่ของตนเองว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด รวมถึงพืชที่ปลูกต้องการธาตุอาหารชนิดใดบ้าง เพื่อสามารถวางแผนการใช้ปุ๋ยในแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการเพาะปลูกให้ดีขึ้น รวมถึงประหยัดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

ที่มาของข้อมูล: ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2551), กลุ่มวิทยบริการ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน (2564)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า