คุณสมบัติของปุ๋ยไนโตรเจนรูปแบบต่าง ๆ

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ไนโตรเจนจัดเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการปริมาณมาก (macronutrient elements) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสารประกอบหลายชนิดในพืช เช่น โปรตีน คลอโรฟิลล์ กรดนิวคลีอิก และวิตามิน เป็นต้น เมื่อพืชได้รับธาตุนี้ในปริมาณที่เพียงพอแล้วพืชจะเจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรง ไนโตรเจนเป็นธาตุที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชให้ตั้งตัวได้เร็วในระยะแรก นอกจากนั้นยังช่วยทำให้ผลผลิตของพืชมีคุณภาพอีกด้วย อาการผิดปกติของพืชเมื่อขาดธาตุไนโตรเจน เนื่องจากไนโตรเจนเป็นธาตุที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายในพืช อาการผิดปกติเมื่อพืชขาดจะแสดงออกที่ใบแก่ก่อน กล่าวคือ ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม หรือสีเขียวอ่อน หรือสีขาว ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวนี้เรียกว่าคลอโรซิส (chlorosis) นอกจากนี้ที่ปลายใบและขอบใบจะค่อย ๆ แห้งและลุกลามเข้ามาเรื่อย ๆ จนในที่สุดใบที่แสดงอาการผิดปกติจะร่วงหล่นจากลำต้น นอกจากอาการผิดปกติจะเกิดขึ้นที่ใบแล้ว ที่ส่วนอื่น ๆ เช่น ลำต้นอาจมีสีเหลือง บางครั้งมีสีชมพูเจือปน ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็กและมีจำนวนน้อยกว่าปกติ พืชเจริญเติบโตช้ามาก หรือเกิดการชะงักการเจริญเติบโต

รูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์กับพืชและพืชสามารถดูดใช้งานได้ทันทีประกอบด้วย แอมโมเนียม-ไนโตรเจน (NH4+) ไนเตรท-ไนโตรเจน (NO3-) และยูเรีย-ไนโตรเจน (CO(NH₂)₂) ทั้งนี้ ในธรรมชาติทั่วไปของดินไนโตรเจนส่วนใหญ่อยู่ในรูปแอมโมเนียมและไนเตรท ไนโตรเจนในรูปยูเรียในธรรมชาติมีอยู่ในปริมาณน้อย พืชจะดูดใช้ไนโตรเจนรูปยูเรียได้มากเฉพาะในกรณีที่มีการใส่ปุ๋ยยูเรียลงไปในดินเท่านั้น

ปุ๋ยไนโตรเจนในท้องตลาดทั่วไปมีจำหน่ายหลากหลายรูป ได้แก่ สูตร 13-0-46, สูตร 15-0-0, สูตร 21-0-0, สูตร 27-0-0, และสูตร 46-0-0 โดยปุ๋ยไนโตรเจนแต่ละสูตรมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  1. 13-0-46 โพแทสเซียมไนเตรท คือ มีไนโตรเจนในรูปไนเตรท 13% และมีโพแทสเซียม 46% มีคุณสมบัติในการละลายในน้ำได้ดี ใช้ในการกระตุ้นการสะสมอาหาร และเพิ่มคุณภาพผลผลิตในพืช เพราะได้ทั้งรูปไนโตรเจน และโพแทสเซียม นิยมใช้ในพืชผัก ไม้ผล และพืชไร่
  2. 15-0-0 แคลเซียมไนเตรท คือ มีไนโตรเจนในรูปไนเตรทเท่ากับ 15% และมีแคลเซียมประมาณ
    25-26% ช่วยเร่งการเจริญเติบโต ละลายน้ำ และตอบสนองต่อพืชได้เร็ว พืชเขียวเร็ว นิยมใช้ในพืชผัก ไม้ผล โดยรูปไนเตรทจะสูญเสียได้ง่ายไปกับน้ำ และอากาศ
  3. 21-0-0 แอมโมเนียมซัลเฟต คือ ไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียม 21% และมีกำมะถันประมาณ 23-24% ช่วยเพิ่มสีสัน กลิ่น และน้ำมัน เมื่ออยู่ในดินหรือสภาพน้ำขังจะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาอย่างอย่างต่อเนื่อง พืชจะค่อย ๆ เขียว ต้นพืชเขียวได้นานมากกว่าการได้รับไนโตรเจนในรูปอื่น ๆ แต่ความเข้มของสีใบจะไม่เข้มมาก เหมาะกับการใช้ในพืชไร่ พืชนาน้ำขัง หรือพืชสะสมอาหารอายุยาว
  4. 27-0-0 แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรท คือ มีรูปปุ๋ยไนโตรเจนทั้ง 2 รูปแบบ คือ ในรูปไนเตรทเท่ากับ 13.5% มีไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียมเท่ากับ 13.5% และมีธาตุอาหารรองบางธาตุเป็นองค์ประกอบ คือ แคลเซียมประมาณ 11-12% และกำมะถัน ขึ้นอยู่กับแหล่งวัตถุดิบ ช่วยเร่งการเจริญเติบโต ละลายน้ำ และตอบสนองต่อพืชได้เร็ว ต้นพืชเขียวเร็ว และมีความเขียวได้นานต่อเนื่อง นิยมใช้ในพืชผัก ไม้ผล
  5. 46-0-0 ยูเรีย คือ มีไนโตรเจนรูปยูเรียเท่ากับ 46% โดยไม่มีธาตุอาหารรอง-เสริม อื่น ๆ ตอบสนองต่อพืชได้เร็ว มีธาตุไนโตรเจนสูง ทำให้พืชโตเร็ว ใบเขียวเข้ม ให้ปริมาณไนโตรเจนต่อน้ำหนักปุ๋ยเคมีมากที่สุด แต่มีข้อจำกัด คือ ถ้าใส่มากเกินความต้องการของพืช จะทำให้ต้นพืชมีอาการอวบน้ำ และอาจเกิดโรคได้ง่าย

ส่วนปุ๋ยสูตร 30-0-0 เป็นปุ๋ยเคมีสูตรทั่วไป ที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจน เท่ากับ 30% โดยส่วนประกอบของรูปไนโตรเจนมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ผลิตปุ๋ยแต่ละราย เช่น ใช้ยูเรีย-ไนโตรเจน เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเพียงอย่างเดียว หรือ ใช้ยูเรีย-ไนโตรเจน และ แอมโมเนียม-ไนโตรเจนร่วมกันในกระบวนการผลิต ทำให้สามารถปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนออกมาได้ทั้ง 2 รูป

เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ปุ๋ยไนโตรเจนแต่ละรูปแบบให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดพืช วิธีการจัดการแปลง สภาพแปลง และการจัดการธาตุอาหารในดิน หากดูจากปุ๋ยไนโตรเจนในแต่ละรูปแบบ เกษตรกรที่ปลูกพืชแต่ละชนิดอาจจะคุ้นเคยต่างกันไป เช่น ในเขตพืชไร่ นาข้าว จะนิยมใช้สูตร 46-0-0, 21-0-0 หรือ 30-0-0 มากกว่าในเขตพืชสวน สวนผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยไนโตรเจนหลากหลายแบบ ทั้ง 46-0-0, 15-0-0, 13-0-46 หรือ 27-0-0 ทั้งนี้ ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแบบต่าง ๆ คือจะให้ธาตุไนโตรเจนเป็นหลักเหมือนกัน แต่ความเข้มข้นหรือปริมาณของไนโตรเจนในปุ๋ยแต่ละรูปแบบจะมากน้อยแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเกษตรกรสามารถเลือกใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ตามความต้องการของแต่ละพืช และความพึงพอใจในการเลือกใช้ของเกษตรกร เช่น ในกรณีที่ต้องการธาตุไนโตรเจนเพียงอย่างเดียวควรเลือกใช้สูตร 46-0-0 แต่ในกรณีที่ต้องการธาตุอื่น ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตด้วยควรเลือกใช้สูตรที่มีธาตุอาหารรองเป็นองค์ประกอบ เช่น 21-0-0 หรือ 15-0-0 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงในดินต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการเลือกชนิดของปุ๋ยไนโตรเจน ปริมาณที่ต้องการใส่ จำนวนครั้งในการแบ่งใส่ ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงชนิดของพืชและชนิดของดินด้วย การใส่ในปริมาณที่มากเกินความต้องการของพืชอาจส่งผลให้เป็นพิษต่อพืช และเป็นการสิ้นเปลือง เนื่องจากเกินความสามารถของพืชในการกักเก็บของดินและการดูดใช้ของพืช

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า