สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)
หอมหัวใหญ่ (onion) พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium cepa L. อยู่ในวงศ์ Alliaceae หอมหัวใหญ่เป็นพืชล้มลุกมีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะกลมป้อม มีเปลือกนอกบางๆ สีม่วงแดงหุ้มอยู่ เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลำต้นใต้ดินหรือหัว ภายในมีกลีบสีขาวอวบหุ้มซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ พันธุ์หอมหัวใหญ่เป็นออกเป็น 2 ชนิด คือ (1) พันธุ์กลางวันยาว จะลงหัวเมื่อได้รับแสงสว่างประมาณ 12-16 ชั่วโมง/วัน เป็นพันธุ์เบาอายุสั้น อายุประมาณ 85-125 วัน มีอายุการเก็บรักษาไม่นาน เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูหนาว คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง เนื่องจากหัวหอมที่แก่เต็มที่เมื่อถูกฝนจะมีโอกาสเน่าเสีย (2) พันธุ์กลางวันสั้น เหมาะสำหรับการปลูกในประเทศไทยต้องการแสงสว่างเพียงวันละ 9-10 ชั่วโมง มีอายุ 165-180 วัน (ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชสวน)
สถานการณ์การผลิตหอมหัวใหญ่ ปีเพาะปลูก 2565/66 ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกหอมหัวใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ โดยปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูลของ สศท.1 ณ วันที่ 1 มกราคม 2566) คาดว่ามีเนื้อเพาะปลูกรวม 3 จังหวัด 7,581 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 8,519 ไร่ (ลดลงร้อยละ 11) ด้านผลผลิตรวม 3 จังหวัด 28,716 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 31,298 ตัน (ลดลงร้อยละ 8) เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงและบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคหมานอน (โรคแอนแทรคโนส) รวมถึงโรคเน่าที่เกิดจากแบคทีเรีย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
จากสถานการณ์พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงโรคและแมลงที่ระบาดเพิ่มขึ้น การจัดการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตของหอมหัวใหญ่ ดังนั้นทางบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางการจัดการอาหารพืช เพื่อเพิ่มศักยภาพผลผลิตหัวใหญ่เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศ
อุปกรณ์ และวิธีการทดลอง
ดำเนินการทดลองในพื้นที่ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เก็บตัวอย่างดินก่อนการทดลองพบว่า ดินมีความเป็นกรดเล็กน้อย มีอินทรียวัตถุอยู่ในระดับปานกลาง ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์อยู่ในระดับสูงมาก โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูงมาก แคลเซียมและแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับระดับ (ภาพที่ 1) โดยเปรียบเทียบแนวทางการใช้ปุ๋ย 3 แนวทาง รายละเอียดแนวทางการใช้ปุ๋ยแสดงในตารางที่ 1 เก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพผลผลิต ดังนี้ ความสูงของต้น ผลผลิต เปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่เน่าเสีย และเปอร์เซ็นต์น้ำหนักที่สูญเสียไปหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต 30 วัน
ตารางที่ 1 แสดงการใช้ปุ๋ยในแต่ละแนวทางการทดลอง
ภาพที่ 1 แสดงผลวิเคราะห์ดินแปลงเปรียบเทียบแนวทางการจัดการธาตุอาหารสำหรับหอมหัวใหญ่ ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง
การเจริญเติบโต
จากผลการทดลองพบว่าความสูงของต้นภายใต้การใช้ปุ๋ยตามแนวทางเกษตรกรมีแนวโน้มสูงที่สุด เท่ากับ 59.9 เซนติเมตร รองลงมาเป็นแนวทางบริษัทฯ แนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 1 เท่ากับ 57.0 และ 52.1 เซนติเมตร ตามลำดับ (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 แสดงความสูงของต้น (เซนติเมตร) ภายใต้แนวทางการใช้ปุ๋ยที่แตกต่างกัน
ผลผลิตคุณภาพผลผลิต
จากผลการทดลองพบว่าการใช้ปุ๋ยภายใต้แนวทางที่ 2 มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงที่สุด เท่ากับ 6,144 กก./ไร่ รองลงมาเป็นแนวทางที่ 1 และแนวทางเกษตรกร เท่ากับ 5,414 และ 4,070 กก./ไร่ ตามลำดับ (ภาพที่ 3) ในขณะที่ผลการทดลองด้านคุณภาพผลผลิตพบว่า เปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่เน่าเสีย แนวทางเกษตรกรมีแนวโน้มสูงที่สุดเท่ากับ 21.3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แนวทางของบริษัทฯ แนวทางที่ 1 และแนวทางที่ 2 มีผลผลิตที่เน่าเสียเท่ากับ 2.8 และ 2.5 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 4) ทั้งนี้แนวทางการใส่ปุ๋ยแต่ละแนวทางมีสัดส่วนของปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจนที่แตกต่างกัน ในระยะเพิ่มคุณภาพผลผลิตการใช้ปุ๋ยภายใต้แนวทางเกษตรกรเป็นสูตรปุ๋ยที่สัดส่วนของปริมาณไนเตรท-ไนโตรเจนค่อนข้างสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเน่าเสียของหัวหอมใหญ่ได้
ภาพที่ 3 แสดงผลผลิต (กก./ไร่) ภายใต้แนวทางการใช้ปุ๋ยที่แตกต่างกัน ภาพที่ 4 แสดงเปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่เสียหายภายใต้แนวทางการใช้ปุ๋ยที่แตกต่างกัน
คุณภาพผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
จากผลการทดลองพบว่าการใช้ปุ๋ยภายใต้แนวทางเกษตรกร มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักหลังเก็บเกี่ยว 30 วันสูงที่สุด เท่ากับ 34.9 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นแนวทางที่ 1 เท่ากับ 25.0 เปอร์เซ็นต์ และการสูญเสียน้ำหนักของผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว 30 วันน้อยที่สุดภายใต้แนวทางที่ 2 เท่ากับ 19.6 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 5)
ภาพที่ 5 แสดงผลเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว 30 วัน
สรุปผลการทดลอง
จากผลการทดลองการพบว่าการใส่ปุ๋ยตามแนวทางที่ 2 มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงที่สุด เท่ากับ 6,144 กก./ไร่ ในขณะเดียวกันยังส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่เน่าเสีย และเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด เท่ากับ 2.5 และ 19.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่แนวทางการใส่ปุ๋ยแนวทางที่ 1 มีแนวโน้มให้ผลผลิตรองลงมาเท่ากับ 5,414 กก./ไร่ เปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่เน่าเสีย และเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวเท่ากับ 2.8 และ 25 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตหอมหัวใหญ่ของทั้ง 2 แนวทางเพิ่มขึ้น 31 และ 53 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางเกษตรกร นอกจากนี้เมื่อคำนวนกำไรสุทธิของแนวทางที่ 1 และ 2 พบว่ากำไรเพิ่มขึ้น 51 และ 76 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางของเกษตรกร