ข้าวเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ ซึ่งแบ่งเป็น ภาคเหนือประมาณ 12 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 32 ล้านไร่ ภาคกลางประมาณเกือบ 10 ล้านไร่ และภาคใต้ประมาณ 2 ล้านไร่ แต่ภาคกลางมีผลผลิตเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ 535 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภาค แต่เนื่องด้วยดินแต่ละพื้นที่ของภาคกลางก็มีความแตกต่างและความจำเพาะค่อนข้างมาก ทำให้ต้องมีการจัดการและการใช้ปุ๋ยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และการจัดการแต่ละแบบก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งเกษตรกรส่วนมากยังขาดความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสนใจที่จะศึกษาถึงชุดดินในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อพัฒนาสูตรปุ๋ยในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ทางบริษัทและผู้วิจัยจึงเล็งเห็นว่า หากมีการผลิตปุ๋ยที่เหมาะสมกับพื้นที่จำเพาะของภาคกลางทจะสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้
วิธีการทดลอง
เลือกพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนาปุ๋ยในพื้นที่ 4 จังหวัด ภาคกลาง โดยแบ่งสำรวจทั้งหมด 15 แปลง 12 ชุดดิน ได้แก่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนครปฐม (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 แสดงชุดดินทั้งหมด 12 ชุดดิน ใน 4 จังหวัด รวมทั้งหมด 15 แปลง
โดยมีตำรับการทดลองทั้งหมด 3 ตำรับการทดลอง ดังนี้ 1. การใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 และ ปุ๋ยยูเรีย ตามวิธีการของเกษตรกร 2. การใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-12-8 ในอัตรา 35 กก.ต่อไร่ จำนวน 2 ครั้ง และ 3. การใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าการวิเคราะห์ดิน โดยใช้แม่ปุ๋ยคือ ยูเรีย , DAP (18-46-0) และ MOP (0-0-60) แบบคลุกเคล้า
ผลการทดลอง
จากผลการทดลอง พบว่า ชุดดินที่สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิต (คิดจากค่าเฉลี่ยทุกตำรับการทดลอง) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับต่ำ (ต่ำกว่า 500 กิโลกรัมต่อไร่) ระดับปานกลาง (501-850 กิโลกรัมต่อไร่) และระดับสูง (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 แสดงพื้นที่การสำรวจตัวอย่างดินและข้อมูลผลผลิตโดยแบ่งตามปริมาณผลผลิตระดับต่ำ ปานกลาง และสูง
ผลของการใช้ปุ๋ยตามแนวทางทั้ง 3 แนวทาง พบว่า การใช้ปุ๋ยตามแนวทางแบบเกษตรกรและแนวทางสูตร
16-12-8 มีแนวโน้มให้ผลผลิตเฉลี่ยในทุกชุดดินใกล้เคียงกัน (754.38 และ 748.17 กิโลกรัมต่อไร่) ในขณะที่แนวทางตามค่าวิเคราะห์ดินมีแนวโน้มให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำที่สุด (675.83 กิโลกรัมต่อไร่) (รูปที่ 2) แต่เมื่อนำมาคำนวณต้นทุนและกำไร กลับพบว่า การใช้ปุ๋ยตามแนวทางที่ 2 คือ สูตร 16-12-8 มีแนวโน้มทำให้มีกำไรเฉลี่ยในทุก ๆ ชุดดินสูงที่สุด เท่ากับ 2,216.29 บาทต่อไร่ รองลงมาคือ การใช้ปุ๋ยแบบเกษตรกร มีกำไรเฉลี่ยเท่ากับ 1,814.07 บาทต่อไร่ และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในแนวทางการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เท่ากับ 1,785.17 บาทต่อไร่ (รูปที่ 3) แสดงให้เห็นว่า การใช้ปุ๋ยตามแนวทางที่ 2 สูตร 16-12-8 ค่อนข้างตอบสนองและให้ผลผลิตและกำไรได้ดีในระดับดินที่ให้ผลผลิตทั้งระดับต่ำ ปานกลาง และสูง
รูปที่ 2 ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 3 แนวทาง 1) แนวทางแบบเกษตรกร 2) ปุ๋ยสูตร 16-12-8 และ 3) ตามค่าวิเคราะห์ดิน
รูปที่ 3 กำไรเฉลี่ยต่อไร่ทั้ง 3 แนวทาง 1) แนวทางแบบเกษตรกร 2) ปุ๋ยสูตร 16-12-8 และ 3) ตามค่าวิเคราะห์ดิน
สรุปผลการทดลอง
การใช้ปุ๋ยตามแนวทางที่ 2 หรือ ปุ๋ยสูตร 16-12-8 ค่อนข้างให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับแนวทางการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร และยังให้ผลผลิตได้ในทุกชุดดิน อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรมีแนวโน้มได้กำไรเฉลี่ยสูงที่สุดในทุกชุดดิน ซึ่งค่อนข้างตอบโจทย์กับการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไรให้สูงขึ้นในพื้นที่ภาคกลางซึ่งมีผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในประเทศ และยังได้แนวทางในการใช้ปุ๋ยที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนในการใช้งานของเกษตรกรอีกด้วย