การทดสอบอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าวพันธุ์ กข85

สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นพืชทางเศรษฐกิจหลักที่มีความสำคัญที่สามารถนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวยังคงกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีพื้นที่การเพาะปลูกมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ จากข้อมูลในปี 2563/64 การทำนาข้าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดเป็นจำนวน 62.4 และ 8.3 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 26.4 และ 5.3 ล้านตันในนาปี และนาปรังตามลำดับ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้ผลผลิต มีคุณภาพเมล็ดดี ตามความต้องการของตลาด ต้านทานต่อโรคและแมลง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (กรมการข้าว, 2564)

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข85 ได้จากการผสมผสานระหว่าง PSBRc10 กับ CNT96028-21-1-PSL-1-1 และ LPHR303-PSL-30-4-2 ซึ่งกรมการข้าวมีมติรับรองพันธุ์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 ลักษณะทั่วไป เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ความสูงเฉลี่ย 104 เซนติเมตร กอตั้ง ลำต้นแข็ง ใบสีเขียวเข้ม ใบธงตั้งอายุเก็บเกี่ยว 115-120 วัน ผลผลิต 862 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดเรียวยาว ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดข้าวกล้องยาว 8.0 มิลลิเมตร ปริมาณอมิโลส 27-28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปัจจุบันข้าวเจ้าพันธุ์ กข85 ค่อนข้างเป็นที่นิยมของเกษตรกร เนื่องจากมีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย (ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท, 2564) ทั้งนี้ข้าวแต่ละพันธุ์มีความต้องการธาตุอาหารและการจัดการด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นทางบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางการจัดการการเพาะปลูกเฉพาะพันธุ์ข้าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับข้าวพันธุ์ กข85 เพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพของผลผลิต

อุปกรณ์ และวิธีการทดลอง

ดำเนินการทดลอง ณ สถานีวิจัยข้าวเขตชลประทานในพื้นที่ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยแบ่งเป็น 2 กรรมวิธีที่ 1 หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวอัตรา 20 กก./ไร่ และกรรมวิธีที่ 2 หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวอัตรา 30 กก./ไร่

ดำเนินการเก็บตัวอย่างดินก่อนการทดลองพบว่า ดินมีความเป็นกรดปานกลาง มีอินทรียวัตถุอยู่ในระดับสูงมาก ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์อยู่ในระดับสูง โพแทสเซียมและแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูงมาก และแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้อยู่ในระดับสูง (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 แสดงปริมาณผลวิเคราะห์ดินแปลงทดลองสถานีวิจัยข้าวเขตชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง

การเจริญเติบโต

จากผลการทดลองพบว่าความสูงภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อัตรา 20 และ 30 กก./ไร่ ไม่มีความ แตกต่าง เท่ากับ 74.87 และ 74.07 เซนติเมตร ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง 2 กรรมวิธีได้รับธาตุอาหารในปริมาณที่เท่ากันจึงส่งผลให้การเจริญเติบโตด้านความสูงมีความใกล้เคียงกัน ในขณะที่จำนวนกอต่อตารางเมตรภายใต้กรรมวิธีการ หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อัตรา 30 กก./ไร่ มีแนวโน้มสูงกว่า 20 กก./ไร่ เท่ากับ 394.67 และ 207.67 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านโดยกรรมวิธีที่ใช้อัตรามากกว่าจึงส่งผลให้มีประชากรต่อพื้นที่สูงกว่าการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราลดลง จำนวนต้นต่อกอภายใต้กรรมวิธีการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อัตรา 20 กก./ไร่ มีแนวโน้มสูงกว่า 30 กก./ไร่ เท่ากับ 2.53 และ 2.33 ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 แสดงผลการเจริญเติบโตของข้าวพันธุ์ กข85 ภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตราที่แตกต่างกัน

รูปที่ 1 ลักษณะสุขภาพของข้าวจากภาพถ่ายดาวเทียม (RGB – NDVI) จากแอปพลิเคชั่นรีคัลท์ การเปรียบเทียบอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของข้าวพันธุ์ กข85

องค์ประกอบผลผลิต

จากผลการทดลองพบว่าจำนวนเมล็ดทั้งหมดต่อรวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง และผลผลิตต่อไร่ ภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์อัตรา 30 กก./ไร่ สูงกว่าการหว่านเมล็ดพันธุ์อัตรา 20 กก./ไร่ (ตารางที่ 3) จำนวนเมล็ดทั้งหมดต่อรวงภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์อัตรา 30 กก./ไร่ และ 20 กก./ไร่ เท่ากับ 82.80 และ 72.60 ตามลำดับ จำนวนเมล็ดดีต่อรวงภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์อัตรา 30 กก./ไร่ และ 20 กก./ไร่ เท่ากับ 66.60 และ 53.73 ตามลำดับ ผลผลิตต่อไร่ภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์อัตรา 30 กก./ไร่ และ 20 กก./ไร่ เท่ากับ 1,095.00 และ 831.00 กก./ไร่ ตามลำดับ

ตารางที่ 3 แสดงผลองค์ประกอบผลผลิตของข้าวพันธุ์ กข85 ภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตราที่แตกต่างกัน

ต้นทุนและกำไรสุทธิ

จากผลการทดลองพบว่าต้นทุนการผลิตภายใต้กรรมวิธีการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 30 กก./ไร่ สูงกว่าการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 20 กก./ไร่ เท่ากับ 4,544 และ 4,316 บาทต่อไร่ ตามลำดับ (รูปที่ 2) แต่เมื่อคำนวณกำไรสุทธิพบว่าการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 30 กก./ไร่ มีกำไรสูงกว่าการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 20 กก./ไร่ เท่ากับ 2,903 และ 1,335 บาทต่อไร่ ตามลำดับ

รูปที่ 2 ต้นทุนการผลิตและกำไรสุทธิภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตราที่แตกต่างกัน

สรุปผลการทดลอง

จากผลการทดลองการพบว่าการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 30 กก./ไร่ ส่งผลให้น้ำหนักผลผลิตเท่ากับ 1,095 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผลผลิตเพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 20 กก./ไร่ และนอกจากนี้ยังส่งผลให้กำไรสุทธิภายใต้การหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 30 กก./ไร่ เท่ากับ 2,903 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้น 117 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับหว่านเมล็ดพันธุ์ที่อัตรา 20 กก./ไร่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของท่าน และเพื่อการมอบบริการที่ดีที่สุดจากเรา กรุณากดปุ่มยอมรับ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานได้ที่ การตั้งค่าคุกกี้ และ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า