สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา
บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)
ที่มาและความสำคัญ
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยในปี 2563/2564 ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของผลผลิตข้าวทั่วโลก รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และเวียดนาม ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ของโลก และมีพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวประมาณ 62.92 ล้านไร่ มากถึงร้อยละประมาณ 46.1 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นข้าวนาปี หรือข้าวนอกเขตชลประทาน ประมาณ 47.04 ล้านไร่ และเป็นเขตชลประทานหรือข้าวนาปรังประมาณ 11.36 ล้านไร่ ซึ่งข้าวนาปรังในเขตที่มีชลประทานสามารถทำการเพาะปลูกได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง และมีผลผลิตเฉลี่ยสูงประมาณ 650 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละประมาณ 19.05 ของปริมาณผลผลิตต่อไร่ ประกอบกับโครงการของภาครัฐที่ช่วยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 รอบที่ 1 ได้มีการประกันราคาข้าว โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณ โดยประกันรายได้ ที่ความชื้นไม่เกิน 15% อีกทั้งในปี 2565 ยังมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูกในเขตชลประทานมากขึ้น และสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานเพียง 3.85 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11.08 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พื้นที่ดังกล่าวสามารถทำการผลิตข้าวได้ประมาณ 2-3 รอบต่อปี อีกทั้งผลผลิตต่อไร่ยังสูงกว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับข้าวนาปี และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานสูงที่สุด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีมากถึงประมาณ 614,722 ไร่ อีกทั้งยังมีการปลูกข้าวเหนียวมากกว่าข้าวเจ้า (1.06 และ 0.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ 2.46 เท่า) และในพื้นที่ยังเริ่มมีการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมระหว่างข้าวพันธุ์ RGD10033-77-MS เป็นพันธุ์แม่ และข้าวพันธุ์ RGD11169-MS8-5 เป็นพันธุ์พ่อ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยได้ข้าวที่มีลักษณะไม่ไวต่อช่วงแสง มีความหอมและต้านทานโรคไหม้ ขอบใบแห้ง และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ประมาณ 930 กิโลกรัมต่อไร่ (อ่อนแอต่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และใบจุดสีน้ำตาล)
ดังนั้น ทางแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จึงสนใจที่จะศึกษาถึงระยะปลูกที่เหมาะสมต่อการให้ผลผลิตของข้าวเหนียวสายพันธุ์นี้ เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการระยะปลูก ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตของข้าว อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงการแนะนำการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการทดลอง
ดำเนินการจัดทำแปลงทดลองในเขตตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ของนายสุวรรณ คำไพเราะ พื้นที่ประมาณจำนวน 5 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ หอมนาคา (พิกัด 16.261155, 103.558669) (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 แสดงผังแปลงทั้งหมดสำหรับแปลงของโครงการ
วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (CRD) ทั้งหมด 3 ตำรับการทดลอง 3 ซ้ำ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะปลูก ได้แก่ 1) T3 ระยะห่างระหว่างแถว×ต้น เท่ากับ 30×18 เซนติเมตร (ระยะที่นิยมปลูกในพื้นที่) 2) T2 ระยะห่างระหว่างแถว×ต้น เท่ากับ 30×21 เซนติเมตร และ 3) T1 ระยะห่างระหว่างแถว×ต้น 30×24 เซนติเมตร
ทำการเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์ก่อนปลูกโดยสุ่มเก็บดินอย่างง่าย ให้กระจายทั่วทั้งแปลง พบว่า ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเท่ากับ 5.01 เป็นกรดจัดมาก ร้อยละของปริมาณอินทรียวัตถุในดิน เท่ากับ 2.16 อยู่ในระดับปานกลาง ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดิน เท่ากับ 18.59 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อยู่ในระดับสูง ปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน เท่ากับ 172.32 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อยู่ในระดับสูงมาก ปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมที่สกัดได้ในดิน เท่ากับ 41.22 และ 97.49 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ อยู่ในระดับต่ำมาก และมีความไม่สมดุลกันระหว่างแคลเซียมต่อแมกนีเซียม (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ตารางแสดงสมบัติของดินก่อนปลูก
การใช้ปุ๋ยสำหรับการทดลอง มีทั้งหมด 4 สูตร และใส่ทั้งหมด 3 ครั้ง ดังนี้
- ครั้งที่ 1 หลังปักดำกล้าประมาณ 10 วัน โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 8.7 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 พลังสอง (ตราหัววัว-คันไถ) ในอัตรา 20.0 กิโลกรัมต่อไร่
- ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ประมาณ 25 วัน โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 6.5 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 20-8-20 พลังสอง (ตราหัววัว-คันไถ) ในอัตรา 20.0 กิโลกรัมต่อไร่
- ครั้งที่ 3 ใส่ก่อนครบอายุเก็บเกี่ยว 1 เดือน โดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ดาวน้ำเงิน ในอัตรา 20.0 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 80.0 กิโลกรัมต่อไร่ของปริมาณปุ๋ยที่ลงดิน คิดเป็นสัดส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส (P2O5) และโพแทสเซียม (K2O) ที่ลงดินเท่ากับ 18.0-6.6-9.0 กิโลกรัมต่อไร่
ผลการทดลอง
การเจริญเติบโต
การเจริญเติบโตของข้าวเหนียวหอมนาคาในระยะแตกกอสูงสุดทั้ง 3 ระยะปลูก ได้แก่ T1 (ระยะ 30×24 เซนติเมตร) T2 (ระยะ 30×21 เซนติเมตร) และ T3 (ระยะ 30×18 เซนติเมตร) พบว่า ระยะปลูกที่ 30×24 เซนติเมตร มีความสูงมากที่สุด รองลงมา คือ ระยะปลูกที่ 30×21 เซนติเมตร และมีแนวโน้มต่ำที่สุดที่ระยะปลูก 30×18 เซนติเมตร (73.38, 71.25 และ 69.18 เซนติเมตร ตามลำดับ) และจำนวนต้นต่อกอก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกันกับความสูง (22.80, 20.13, 18.33 ต้นต่อกอ ตามลำดับ)
สำหรับการเจริญเติบโตของข้าวเหนียวหอมนาคาในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต (สุกแก่ทางสรีระ) ทั้ง 3 ระยะปลูก พบว่า ทั้งความสูงและจำนวนต้นต่อกอมีแนวโน้มเช่นเดียวกันกับที่ระยะแตกกอสูงสุด (106.90, 105.45 และ 102.45 เซนติเมตร ตามลำดับ และ 19.69, 17.45 และ 15.80 ต้นต่อกอ ตามลำดับ)
จากระยะแตกกอสูงสุดจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต พบว่า ระยะที่มีแนวโน้มร้อยละของการเปลี่ยนแปลงทางด้านความสูงเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ระยะปลูกที่ 30×18 เซนติเมตร รองลงมา คือ ระยะปลูกที่ 30×21 เซนติเมตร และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในระยะปลูกที่ 30×24 เซนติเมตร (ร้อยละการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับระยะแตกกอสูงสุด เท่ากับ 48.09, 48.00 และ 45.68 ตามลำดับ) และสำหรับจำนวนต้นต่อกอ มีแนวโน้มร้อยละของการเปลี่ยนแปลงสูงที่สุด คือ ระยะปลูกที่ 30×18 เซนติเมตร รองลงมา คือ ระยะปลูกที่ 30×24 เซนติเมตร และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร (ร้อยละของการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับระยะแตกกอสูงสุด เท่ากับ -13.80, -13.64 และ -13.31 ตามลำดับ) (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ความสูงและจำนวนต้นต่อกอที่ระยะแตกกอสูงสุดและระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตของข้าวเหนียวหอมนาคา
องค์ประกอบผลผลิตและผลผลิต
องค์ประกอบผลผลิตจากระยะการปลูกข้าวที่แตกต่างกัน 3 ระยะ พบว่า จำนวนรวงต่อกอสูงที่สุดที่ระยะปลูก 30×24 เซนติเมตร รองลงมา คือ ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร และมีแนวโน้มต่ำที่สุดที่ระยะปลูก 30×18 เซนติเมตร (19.18, 15.93 และ 14.73 รวงต่อกอ ตามลำดับ) น้ำหนักเมล็ดดี 1,000 เมล็ด และความยาวรวงก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกันกับจำนวนรวงต่อกอ (29.00, 28.00 และ 26.10 กรัม ตามลำดับ และ 24.09, 23.97 และ 23.87 เซนติเมตร ตามลำดับ) และสำหรับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่แต่ละระยะปลูก พบว่า ที่ระยะปลูก 30×24 เซนติเมตร มีแนวโน้มผลผลิตเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา คือ ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร และมีแนวโน้มต่ำที่สุดที่ระยะปลูก 30×18 เซนติเมตร (รูปที่ 3)
ตารางที่ 3 องค์ประกอบผลผลิตบางประการของข้าวเหนียวหอมนาคา
วิจารณ์ผลการทดลอง
การเจริญเติบโตของข้าวเหนียวหอมนาคาที่ระยะแตกกอสูงสุดในส่วนของความสูง ทั้ง 3 ระยะ พบว่า ยิ่งขนาดของระยะปลูกเพิ่มขึ้น ต้นข้าวก็จะยิ่งมีการเจริญเติบโตเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ระยะปลูก 30×24 เซนติเมตร มีความสูงเพิ่มขึ้นสูงที่สุด รองลงมา คือ ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร คิดเป็นประมาณร้อยละ 6.07 และ 2.99 ของความสูงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะปลูกแบบปกติ (T3) ที่ 30×18 เซนติเมตร และที่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตก็มีผลเช่นเดียวกัน พบว่า ระยะปลูกที่ 30×24 เซนติเมตร มีความสูงเพิ่มขึ้นสูงที่สุด รองลงมา คือ ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร (ประมาณร้อยละ 4.34 และ 2.92 ของความสูงที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะปลูกแบบปกติ) ซึ่งสอดคล้องกับการแตกกอของข้าวทั้ง 2 ระยะ คือ ระยะแตกกอสูงสุดและระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจำนวนต้นต่อกอในระยะแตกกอสูงสุด ที่ระยะปลูก 30×24 มีการแตกกอเพิ่มขึ้นสูงที่สุด รองลงมา คือ ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร (คิดเป็นประมาณร้อยละ 24.38 และ 9.81 ของการแตกกอเมื่อเทียบกับระยะปลูกแบบปกติ และที่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตก็มีผลเช่นเดียวกัน (คิดเป็นประมาณร้อยละ 24.62, และ 10.44 ของการแตกกอเมื่อเทียบกับระยะปลูกแบบปกติ) ซึ่งเกิดจากการพื้นที่ปลูกข้าวที่มีมากขึ้นจะส่งผลต่อความสูงและการแตกกอได้ดีกว่าระยะปลูกที่มีความหนาแน่นต่อพื้นที่สูง (Krishna et al., 2009)
สำหรับองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิต พบว่า จำนวนรวงต่อกอก็มีผลต่อระยะการปลูกที่แตกต่างกัน โดยที่ระยะปลูก 30×24 เซนติเมตร มีจำนวนรวงต่อกอสูงที่สุด รองลงมา คือ 30×21 เซนติเมตร (คิดเป็นร้อยละประมาณ 30.21 และ 8.14 ของจำนวนรวงต่อกอเมื่อเทียบกับระยะปลูกแบบปกติ) (ตารางที่ 3) สอดคล้องกับจำนวนต้นต่อกอเช่นกัน (ตารางที่ 2) โดยจำนวนการติดรวงต่อต้นในระยะการเก็บเกี่ยว พบว่า ที่ระยะปลูก 30×24 เซนติเมตร มีแนวโน้มการติดรวงสูงที่สุด รองลงมา คือ ที่ระยะ 30×18 เซนติเมตร และมีแนวโน้มต่ำที่สุดในระยะ 30×21 เซนติเมตร (ร้อยละการติดรวงประมาณ 97.40, 93.23 และ 91.28 ของจำนวนต้นต่อกอในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต) (ตารางที่ 2 และ 3) และยังสอดคล้องกับปริมาณน้ำหนักเมล็ดดี 1,000 เมล็ด ซึ่งในระยะการปลูกที่ 30×24 เซนติเมตรมีแนวโน้มสูงที่สุด รองลงมา คือ ที่ระยะปลูก 30×21 เซนติเมตร หรือคิดเป็นร้อยละประมาณ 11.11 และ 7.28 ของน้ำหนักเมล็ดดี 1,000 เมล็ดที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะปลูกแบบปกติ และยังสอดคล้องกับความยาวรวงเช่นกัน ซึ่งมีผลเหมือนกันกับน้ำหนักเมล็ดดี 1,000 เมล็ด (24.09, 23.97 และ 23.87 เซนติเมตร ตามลำดับ) (ตารางที่ 3) และจากองค์ประกอบผลผลิตที่สอดคล้องกันทั้งหมดทำให้ผลผลิตต่อไร่ ที่ระยะปลูก 30×24 เซนติเมตร ก็มีแนวโน้มของผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดเช่นกัน รองลงมา คือ ระยะปลูกที่ 30×21 และ 30×18 เซนติเมตร (1,043.29, 974.86 และ 948.57 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ) (รูปที่ 2) ทั้งนี้เพราะระยะการปลูกที่ไม่หนาแน่นมากเกินไปจะเป็นการลดอิทธิพลของแสงระหว่างกอข้าว ทำให้ข้าวได้รับแสงอย่างเต็มที่ (Mishra and Salokhe, 2011) สอดคล้องกับการศึกษาระยะปลูกที่แตกต่างกันในข้าว 3 สายพันธุ์ โดยมีข้าวพันธุ์ทับทิมชุมแพ ข้าวพันธุ์หอมธรรมศาสตร์ และข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ พบว่า ที่ระยะปลูกเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์ มีการเจริญเติบโตและแตกกอได้มากขึ้น (พรชัย และ อรุณ, 2017) และสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Cessay and Uphoff (2003) พบว่า ระยะปลูกที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มการเจริญเติบโต และความหนาแน่นของราก รวมไปถึงความหนาแน่นของต้นต่อพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
สรุปผลการทดลอง
สำหรับข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับการทดลองนี้ คือ ระยะที่กว้างที่สุด โดยอิงจากรถดำนาที่สามารถปรับขนาดได้ คือ 30×24 เซนติเมตร ซึ่งมีแนวโน้มทั้งการเจริญเติบโต องค์ประกอบผลผลิต และผลผลิตสูงที่สุด ได้แก่ ความสูงทั้งระยะแตกกอสูงสุดและระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวนต้นต่อกอ จำนวนรวงต่อกอ น้ำหนักเมล็ดดี รวมไปถึงความยาวรวง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลผลิตไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญแต่ก็มีแนวโน้มในส่วนขององค์ประกอบผลผลิตอื่น ๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าหากเราปรับระยะปลูกให้มากขึ้นกว่าแบบที่เกษตรกรทำกันอย่างทั่วไป ก็จะสามารถยกระดับและการจัดการให้มีผลผลิตสูงขึ้นได้อีกเช่นกัน
ข้อเสนอแนะ
การทดลองนี้ควรจะมีการยกระดับแคลเซียมและแมกนีเซียมโดยการปรับปรุงดินด้วยปูนโดโลไมต์เพื่อยกระดับธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งยังช่วยยกระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้ดียิ่งขึ้น ก็อาจจะช่วยยกระดับผลผลิตได้ อีกทั้งข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคายังมีความอ่อนแอต่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลผลิตในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ และควรมีการทดลองซ้ำในพื้นที่ เพื่อหาระยะที่เหมาะสมที่จะให้ผลผลิตและผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
ข้าวนาปี.เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ จำแนกตามเขตชลประทาน รายภาค และรายจังหวัด ปีเพาะปลูก 2563/64 ณ ความชื้น 15%
ชนิดข้าวนาปี. เนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ รายจังหวัด ปีเพาะปลูก 2563/64 วารสารเศรษฐกิจการเกษตร ปีที่ 68 ฉบับที่ 793 2565
Cessay MM. Uphoff N. 2003. The effect of repeated soil wetting and drying in lowland rice yield with system of rice intensification (RSI) methods. In:http://ciifad.conell.edu.
Krishna, A., K. Biradarpatil, and K. Manjappa. 2009. Influence of seedling age and spacing on seed yield and quality of short duration rice under system of rice intensively cultivation. Karnataka J. Agric. Sci. 22: 53-55.
Mishra, A., and V.M. Salokhe. 2011. Rice root growth and physiological responses to SRI water management and implications for crop productivity. Paddy Water Environ. 9: 41-45.
พรชัย หาระโคตร1* และ อรุณ ทองอุ่น1 (2017). อิทธิพลของระยะปลูกต่อผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าว 3 พันธุ์ภายใต้ระบบการปลูกแบบประณีต KHON KAEN AGR. J. 45 SUPPL. 1 : กรมวิชาการเกษตร. 2548. คำแนะนำการใช้ปุ๋ยกับพืชเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.